วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ทางเลือก ทางรอด ของวิถีเกษตรไทย ด้วยแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน

 ปัญหาของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน

หากย้อนอดีตไปเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา คำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวน่าจะสะท้อนภาพของวิถีเกษตรไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าการเกษตรในสมัยนั้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมีความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรน่าจะมีความผาสุกในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับวิถีเกษตรไทยในยุคปัจจุบันนี้ คำกล่าวที่ว่า ในน้ำมียา ในนามีหนี้ก็น่าจะสะท้อนภาพของวิถีเกษตรไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่นกัน การเปลี่ยนผ่านจากการทำการเกษตรเพื่อการยังชีพ (Extensive Farming) ไปเป็นการทำการเกษตรเพื่อการค้าหรือการเกษตรแบบเข้มข้น (Intensive Farming) ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เนื่องจากการเกษตรเพื่อการค้านั้น เน้นการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เน้นผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อประเพณีวัฒธรรมและภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับวิถีการผลิตที่สืบทอดกันมา ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ผลสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรไทยในปัจจุบันพึ่งตนเองไม่ได้ในวิถีการผลิตทางการเกษตร

ในปี 2555 ภาคเกษตรมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ที่เพียงร้อยละ 12.19 ของมูลค่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมด ขณะที่มีครัวเรือนเกษตร จำนวน 5.911 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 22.93 ล้านคน[1] และมีเนื้อที่ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรถึง ร้อยละ 46.54 ของเนื้อที่ทั้งหมดประเทศไทย จะเห็นว่าปัจจุบันยังมีผู้คนจำนวนมากมายที่อยู่ในภาคเกษตร และยังใช้ทรัพยากรที่ดินมากกว่าภาคการผลิตอื่นๆ แต่กลับมีส่วนร่วมในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพียง ร้อยละ 12.19 เท่านั้น และหากพิจารณาไปที่ครัวเรือนเกษตรกรจะพบว่า ครัวเรือนเกษตรมีรายได้สุทธิเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 57,448 บาท/ครัวเรือน ขณะที่มีหนี้สินเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 59,808 บาท/ครัวเรือน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556: 1-4) ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินมากกว่ารายได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยยังพึ่งตนเองไม่ได้

ปัญหาดังกล่าวของเกษตรกรไทยผนวกกับวิถีสังคมปัจจุบันของเกษตรไทยที่เน้นการพึ่งพาทั้งจากภาครัฐและนายทุน แต่ไม่เน้นการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนในอดีต ทำให้เกษตรกรไทยยังอยู่ในวังวนของการพึ่งตนเองไม่ได้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทางออกของปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเกษตรกรไทยมีแนวทางการผลิตที่แตกต่างไปจากวิถีการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนน่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่เกษตรกรไทยควรจะได้เรียนรู้ และทดลองปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตทางการเกษตรของตนเอง จากเดิมไปสู่วิถีการผลิตใหม่ เพื่อให้การดำเนินชีวิตในวิถีเกษตรสร้างความกินดี อยู่ดี มีความสุข พึ่งตนเองเองอย่างแท้จริง 

แนวคิดสหกรณ์

          แนวคิดเรื่องการสหกรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษโดย Robert Owen ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการสหกรณ์โลก เขามองเห็นปัญหาต่างๆ ของคนงานในโรงงานทอผ้า โดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ จากนายทุนเจ้าของโรงงาน ในปี ค.ศ.1800 เขาจึงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการซื้อโรงงานทอผ้าชื่อ NEW LANARK เป็นของตนเองและหุ้นส่วน เขาบริหารงานโดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนงาน และที่เป็นพื้นฐานของการสหกรณ์ในเวลาต่อมาคือการที่เขาเปิดร้านค้าในโรงงานแบบใหม่ โดยเลือกสินค้าที่ดี และขายให้คนงานในราคาต่ำพอคุ้มทุน และยกประโยชน์ที่ได้จาการที่ร้านค้าสามารถซื้อของจำนวนมากในราคาต่ำลงให้แก่คนงาน (วิทยากร เชียงกูล, 2550: 13-15)

          แนวคิดสหกรณ์มีการพัฒนาและแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยโดยที่พระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยได้ทรงริเริ่มที่จะใช้แนวคิดสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2458 และมีการก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

          เนื้อหาสาระสำคัญของแนวคิดสหกรณ์ คือ สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ มีความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม โดยยึดแนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผล เป็นรูปธรรม[2] 

แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน

ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนในสังคมไทยกำเนิดขึ้นมาจากปัญหาของการปฏิวัติเขียว[3] (Green Revolution) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตทางการเกษตรของไทย ซึ่งผลกระทบของการปฏิวัติเขียวที่เห็นได้ชัดเจนคือมีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนค่าปุ๋ยและสารเคมีนั้นคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ความหวังที่จะผลิตอาหารได้มากขึ้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวได้ทำลายระบบการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน การเกษตรแบบปฏิวัติเขียวส่งผลให้ เกษตรกรเป็นทาส ประเทศชาติไม่เป็นไทเนื่องจากการผลิตที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทยและการใช้ภูมิปัญญาของไทย การเดินตามแนวทางเกษตรกรรมเพื่อการพาณิชย์ มุ่งหวังการส่งออกเพื่อเงินตรา นำเข้าเทคโนโลยีการเกษตรจากตะวันตกที่เน้นการให้ผลผลิตสูงโดยละเลยการใช้ความหลากหลายระโยชน์ ล้วนส่งผลให้เกษตรกรพึ่งตนเองไม่ได้

          จากปัญหาทางการเกษตรดังกล่าว ทำให้เกษตรกร นักคิด นักพัฒนา หรือขบวนการภาคประชาชนได้พยายามหาทางออกโดยเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 2520 เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้ 3 ประการคือ

1) การรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ของเกษตรกรที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำการเกษตร เช่น ประสบการณ์ของพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย จังหวัดสุรินทร์ ลุงฉลวย แก้วคง จังหวัดนครสวรรค์ ป๊ะหรน หมัดหลี จังหวัดสงขลา และผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

2) การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรแบบผสมผสาน เช่น การเลี้ยงปลานาข้าวขององค์กรพัฒนาเอกชน

3) การนำเอาประสบการณ์และแนวคิดเรื่องเกษตรกรรมทางเลือก (Alternative Agriculture) จากประเทศต่างๆ เช่น เกษตรกรรมธรรมชาติจากชาวนาญี่ปุ่นชื่อ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ประสบการณ์เกษตรกรรมอินทรีย์ในยุโรป เป็นต้น เข้ามาประสานและสังเคราะห์ขึ้นเป็นชุดความรู้และความคิดของคนไทยเอง

และในปี 2532 เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้ง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกขึ้นเป็นขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในปี 2535 องค์กรพันธมิตร เช่น กลุ่มสันติอโศก มหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ร่วมกันจัดงาน สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ 1ขึ้น อันถือว่าเป็นการเริ่มต้นขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นทางการของประเทศไทย (วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, 2554: 149-152)

        เนื้อหาที่สำคัญที่สุดของแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนก็คือการผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชน เน้นการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เน้นการผลิตที่ปลอดภัย ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายไม่ใช่ความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นสำคัญ แต่ให้ความสำคัญต่อความกินดีอยู่ดีมีความสุขของเกษตรกร ชุมชน และสังคม อย่างยั่งยืน 

ต้นแบบความสำเร็จ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ

          สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เป็นสหกรณ์ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่สมาชิกและเกษตรกร ได้จัดทำโครงการพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์เน้นความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการผลิตเอง บริโภคเอง และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสหกรณ์ได้ดำเนินการก่อตั้งตลาดเกษตรกร (FARMER MARKET) เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพสหกรณ์ที่มีคุณภาพ (Coopinthailand, 2557) ซึ่งในปี พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นปีสหกรณ์สากล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลแก่เกษตรกรตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในงานวันอาหารโลก 4 คน จากประเทศ มาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และประเทศไทย คือ นางสาวสุมาลี ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ในฐานะเกษตรกรผู้ผลิตข้าวและผักอินทรีย์ตำเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปลูกข้าวต้นเดี่ยวโดยใช้แหนแดง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุน ได้ผลผลิตมาก ขายได้ราคา ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด สามารถสร้างตราสินค้าข้าวอินทรีย์ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นทั้งในประเทศ และเตรียมพร้อมที่ขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น จีนและภูฏาน เป็นต้น (เพ็ญพิชญา เตียว, 2555) 

ทางเลือก ทางรอดของเกษตรกรไทย

          จะเห็นว่าแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน มีเป้าหมายร่วมกันคือ นำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมและถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าวิธีการปฏิบัติของทั้งสองแนวคิดนั้นเอื้อต่อการช่วยให้เกษตรกรไทยพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิต ขณะที่แนวคิดสหกรณ์เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งการสนับสนุนภาคการผลิต และภาคการตลาด โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคเกษตรมีการดำเนินธุรกิจที่สามารถตอบสนองวงจรธุรกิจได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ดังนั้นหากเกษตรกรไทยนำแนวคิดทั้งสองไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนวิถีเกษตรของตน ของชุมชน ของสังคม เกษตรกรไทยก็อาจหลุดออกจากวังวนของการพึ่งตนเองไม่ได้ในวิถีเกษตร และเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรที่มีความกินดีอยู่ดีมีความสุข พึ่งตนเองได้ อย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดสหกรณ์และแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน

 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

เพ็ญพิชญา เตียว.  2555.  ปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยแหนแดง FAO ยอมรับ ผลิตผลคุณภาพ.  (ออนไลน์).  http://www.thairath.co.th/content/305780, 5 พฤษภาคม 2557.

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ.  2554.  ปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร: บทวิเคราะห์ และปฏิบัติการทางนโยบาย.  กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิชีววิถี.

วิทยา เชียงกูล.  2550.  หยุดวิกฤติซ้ำซาก ด้วยระบบสหกรณ์.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2556.  ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2555.  กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Coopinthailand.  2557.  สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด(ออนไลน์).  http://www.coopinthailand.com/1517, 5 พฤษภาคม 2557.



[1] ขนาดครัวเรือนเกษตรเท่ากับ 3.88 คน/ครัวเรือน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556: 4)

[2] พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2553

[3] ความสำเร็จของการพัฒนาระบบการเกษตรโดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเพิ่มจำนวนผลผลิต โดยใช้การค้นคว้า วิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศเม็กซิโก เมื่อปี พ.ศ.2486 โดยมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ การก่อตั้งสถาบันข้าวนานาชาติหรืออีรี่ขึ้นในปี พ.ศ.2503 โดยมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์และมูลนิธิฟอร์ดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรครั้งใหญ่ของโลกจนถูกเรียกขานว่าการปฏิวัติเขียว (Green Revolution)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...