วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

จิตสำนึกสหกรณ์ (Cooperative Consciousness)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 9 : จิตสำนึกสหกรณ์ (Cooperative Consciousness) 

ผมพยายามทำความเข้าใจกับคำว่า การคุ้มครองระบบสหกรณ์และตั้งใจจะเขียนให้เป็นตอนหนึ่งของ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์แต่เมื่อลองเขียนดูแล้ว กลายเป็นเรื่องหนึ่งที่ยากที่สุดของผม ก็เลยหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ และหาโอกาสเหมาะ ๆ เมื่อสมองปลอดโปร่งพร้อมจะเขียน วันนี้ก็เลยลองหาข้อมูลดูอีกหน่อย พอดีเจอบทความชื่อ Cooperatives: A Short History เขียนโดย Jennifer Wilhoit เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2005) เผยแพร่ทาง https://www.culturalsurvival.org/publications/cultural-survival-quarterly/cooperatives-short-history   

ผมอ่านเจอประโยคหนึ่งในบทความ ซึ่งทำให้ผมซึ้งในรสพระธรรมมากขึ้น จึงเปลี่ยนความตั้งใจมาเขียนเรื่อง จิตสำนึกสหกรณ์แทน เรื่องการคุ้มครองระบบสหกรณ์เดี่ยวค่อยว่ากัน ประโยคที่ดึงดูดความสนใจของผม คือ “Cooperatives are organizations of people who have the same needs.” ผมแปลเอาเองว่า สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกันขยายความได้ว่า สหกรณ์เป็นองค์กรของผู้คนที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม มีความต้องการที่จะแก้ไขเยียวยาปัญหาดังกล่าว โดยเชื่อในการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีการสหกรณ์ ตามหลักการสหกรณ์ บนพื้นฐานอุดมการณ์สหกรณ์ 

ความเชื่อดังกล่าวก่อให้เกิดการสหกรณ์ที่เป็นรูปธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศอังกฤษ โดยสหกรณ์ Rochdale จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2387 (ค.ศ.1844) สมาชิกแรกเริ่ม 28 คน ทุนดำเนินงาน 28 ปอนด์ (ประมาณ 168 บาท อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 ปอนด์ เท่ากับ 6 บาท) เริ่มซื้อขายในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2387 (ค.ศ.1844) ช่วงแรกร้านค้าขายสินค้าพื้นฐานเพียง 5 รายการเท่านั้น ได้แก่ เนย แป้ง น้ำตาล ข้าวโอ๊ต และเทียน การดำเนินการของ Rochdale Pioneer ก็เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของกรรมกรช่างทอผ้าที่มีรายได้ลดลง โดยได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานคนในการทอผ้า รายได้ลดลง ค่าครองชีพเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น จึงจัดตั้งร้านสหกรณ์ Rochdale ขึ้นมาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ 

สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องการสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวนา โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2459 (ค.ศ.1916) สมาชิกแรกเริ่ม 16 คน ทุนดำเนินงาน 3,080 บาท ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท และเงินกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จำนวน 3,000 บาท (ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี) สหกรณ์ดำเนินธุรกิจโดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี สมาชิกนำเงินกู้จากสหกรณ์ไปชำระหนี้เก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เงินส่วนที่เหลือนำมาลงทุนทำนา ช่วยให้ชาวนาไม่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินอันเกิดจากหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง ณ ขณะนั้น 

จิตสำนึกที่ว่า สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกัน เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง บรรลุเป้าหมายที่สำคัญคือ สมาชิกพึ่งพาตนเองได้ พึ่งพากันเองได้ แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของตนเองได้ บนพื้นฐานของความยุติธรรม และนำไปสู่สันติสุขร่วมกัน 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบัน มีสหกรณ์จำนวนหนึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ได้ ปัจจัยสาเหตุก็คงมีหลากหลาย แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ สหกรณ์ดังว่ามีบรรดาสมาชิกที่มีความต้องการแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เช่น สมาชิกกลุ่มหนึ่งต้องการดอกเบี้ยงเงินฝากสูง ๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี กลุ่มหนึ่งต้องการเงินปันผลสูง ๆ กลุ่มหนึ่งต้องการดอกเบี้ยเงินกู้ถูก ๆ  ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันก็ไม่แตกต่างอะไรกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี 

แต่หากสมาชิกกลุ่มหนึ่งนำเงินมาฝากสหกรณ์เพราะเชื่อว่าเงินของตนเองนั้นช่วยเป็นทุนให้สหกรณ์นำไปดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกที่ขาดแคลนเงินทุน โดยเพื่อนสมาชิกกู้เงินไปในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด หรืออัตราเท่ากับตลาด แต่ในที่สุดก็ต่ำกว่าเพราะสมาชิกผู้กู้และชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย (ตรงเวลา) ได้เงินเฉลี่ยคืน ขณะที่ผู้ฝากเงินกับสหกรณ์ก็ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าตลาดนิดหน่อย (โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยที่ได้รับ) ส่วนผู้ถือหุ้นก็ตระหนักว่าผลตอบแทนที่แท้จริงคือผลของการดำเนินธุรกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกได้นั้นสำคัญกว่าเงินปันผล (ถ้าบริหารจัดการมีประสิทธิภาพย่อมได้รับเงินปันผลอยู่แล้วแต่ควรเป็นอัตราที่ไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากนัก) สหกรณ์เช่นนี้ก็ย่อมอยู่บนพื้นฐานของ สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกัน

 

ขบวนการสหกรณ์ส่วนใหญ่คงไม่ประสงค์จะเห็นสหกรณ์เป็นองค์กรที่ดำเนินการแบบ จิตสำนึกที่ผิดพลาด (False Consciousness)”  ไม่อยู่บนพื้นฐาน สหกรณ์คือองค์กรของคนที่มีความต้องการเหมือนกัน เพราะนอกจากจะช่วยเหลือสมาชิกไม่ได้แล้ว ความยุติธรรมก็มักจะไม่เกิด สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้ง ไม่สันติสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...