วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กำไรในระบบสหกรณ์ (ฉบับพอสังเขป)

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 8 : กำไรในระบบสหกรณ์ (ฉบับพอสังเขป)

        ผมมีความสงสัยใคร่รู้ว่าสหกรณ์เป็นองค์กรแสวงหากำไรอย่างองค์กรธุรกิจอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือไม่ จึงได้ศึกษาหาความรู้ พอสังเขปดังนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ “กำไร” หมายถึง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นเนื่องจากการนำ “รายได้รวม” กับ “ค่าใช้จ่ายรวม” ซึ่งมักจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กำไรสุทธิ” ของธุรกิจ

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของ Marx ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” อธิบายเกี่ยวกับ ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน ว่า การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานขึ้นจากระดับต่ำสุดนั้น ทำให้เกิดส่วนเกินเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นทุกช่วง และเมื่อใดก็ตามที่มีผลผลิตส่วนเกินขึ้นมาก็หมายความว่ามนุษย์สามารถผลิตได้มากกว่าที่ตนจำเป็นต้องบริโภค และดังนั้นก็จำต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อต่อสู้กันว่า ส่วนเกินที่เกิดขึ้นนี้จะถูกแบ่งกันอย่างไร มูลค่าส่วนเกินจะเท่ากับมูลค่าแรงงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเกินไปจากต้นทุนที่ตัวแรงงานได้รับ เป็นวิธีของนายทุนที่จะแสวงหากำไรจากการขายสินค้า

จากสมการ กำไร = รายได้ - รายจ่าย ฉะนั้นถ้าอยากมีกำไรมาก ๆ ก็ต้องลดต้นทุนให้ต่ำลงที่สุด แต่การลดต้นทุนนั้นจะเป็นหนทางไหนอย่างไร จะยุติธรรม เป็นธรรมหรือไม่ ก็แล้วแต่อุดมการณ์ของผู้ประกอบกิจการ

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 "สหกรณ์" หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

แล้วกำไรในระบบสหกรณ์เป็นอย่างไร

อาบ นคะจัด (2536) อธิบายว่า สหกรณ์คือองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการตลาดของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับหุ้นส่วนและบริษัท ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ องค์การธุรกิจนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจตาม ป.พ.พ. ในเรื่องสำคัญคือ วัตถุประสงค์และหลักการขององค์การธุรกิจต่างกัน และตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ต่างกัน สหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันส่วนวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนและบริษัทคือ ประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นแม้กฎหมายสหกรณ์จะกำหนดเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ แต่คำว่ากำไรสุทธิที่บัญญัตินั้นเป็นเพียงคำศัพท์ทางการบัญชี ไม่ใช่กำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 เพราะในสหกรณ์เจ้าของและลูกค้าคือบุคคลคนเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการที่สหกรณ์กำหนดขึ้น คือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สหกรณ์เรียกจากสมาชิก เมื่อสิ้นปีการบัญชี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือจ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) เท่าใด จึงต้องจัดสรรตามกฎหมายสหกรณ์

ทั้งนี้กฎหมายสหกรณ์ มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง การบริหารจึงต้องดำเนินการโดยสมาชิกตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 45 และมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์

นุกูล กรยืนยงค์ (2554) อธิบายว่า สหกรณ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อ ก่อตั้งสหกรณ์ และนำเงินมาลงทุนร่วมกันนั้น มิใช่เพื่อทำการค้ากับบุคคลอื่น หากแต่เป็นเพราะต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นสำหรับตนเองเป็นประการสำคัญ มุ่งให้บริการแก่สมาชิกเป็นหลัก เป็นการสร้างประโยชน์ขึ้นแก่ตนเอง บริการตนเองโดยการร่วมกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการเรียกร้องจากผู้อื่น สหกรณ์ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เป็นคนเดียวกัน หรือในกรณีที่เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตโดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและผู้ใช้แรงงาน ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเพราะเป็นคนเดียวกัน ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกแก่เจ้าของ หรือแรงงาน ก็ย่อมเป็นของคนเดียวกันทั้งหมด

กำไรเป็นของสมาชิก (ไม่ใช่ของสหกรณ์) เนื่องจากสหกรณ์มีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจกับสมาชิก และมักใช้นโยบายราคาตลาดด้วยเหตุผลสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ดังนั้น "กำไร" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานตามปกติ ของสหกรณ์ และถือว่าเป็นของสมาชิกทุกคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ผู้ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มากก็มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรมากตามส่วน ดังนั้น สหกรณ์จึงมีวิธีการคืนกำไรนั้นกลับไปให้สมาชิกตามส่วนของการใช้บริการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจ

มูลค่าหุ้นของสหกรณ์จะคงที่ ไม่มีขึ้นลงเป็นมูลค่าเดียวกับมูลค่าที่ตราไว้ แต่จำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายจะไม่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากหุ้นของสหกรณ์ไม่ใช่เงินลงทุนที่ใช้แสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นการลงทุนเพื่อผูกพันสมาชิกกับสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าของและเพื่อให้ได้สิทธิในการใช้บริการในสหกรณ์ในฐานะสมาชิก

เงินทุนที่ได้จากสมาชิกในฐานะผู้เป็นเจ้าของกิจการ มีหน้าที่อย่างเดียวคือให้ดอกเบี้ยแก่สมาชิกในฐานะผู้ลงทุน และจะมีอัตราจำกัดเพียงเพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสของเงินทุนดังกล่าว ด้วยเหตุที่สหกรณ์ให้ความสำคัญแก่การใช้บริการมากกว่าการลงทุนอย่างไรก็ตามในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจสหกรณ์อาจมีทุนจากแหล่งอื่น ๆ หรือในลักษณะอื่น ๆ ที่ต้องให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ยจ่าย) สูง ในระดับเดียวกับอัตราตลาด ซึ่งเป็นการจัดหามาเพื่อความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เป็นการดำเนินธุรกิจทั่วไป จึงไม่ถือเป็นเงินทุนจากสมาชิกในฐานะเจ้าของ แม้ว่าจะได้มาจากสมาชิกก็ตาม เช่น เงินฝากที่สมาชิกฝากไว้กับสหกรณ์ ซึ่งเป็นเงินทุนของสหกรณ์ที่มีสมาชิกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของ 

          ผมคงไม่อาจสรุปได้แบบเบ็ดเสร็จนะตอนนี้ เนื่องด้วยประสบการณ์และความรู้ยังน้อยนิดต้องเร่งศึกษา เมื่อเติบใหญ่จะได้มีวิชาไว้ทำงานเป็นที่พึ่งพาของประชาชน แต่ก็เชื่อเกินร้อยละ 99 แล้วครับว่า สหกรณ์ไม่ใช่องค์กรทางเศรษฐกิจที่แสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจที่มุ่งให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก ตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการ และคุณค่าสหกรณ์ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายไม่ใช้การสั่งสมกำไรส่วนเกินเพื่อความมั่งคั่ง แต่มุ่งสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ พึ่งพากันเองได้ ในลักษณะที่เป็นธรรม และผาสุก

แม้จะมีการตอบข้อหารือ ข้อวินิจฉัย ของหน่อยงานต่าง ๆ ว่า สหกรณ์เข้าข่ายเป็นองค์กรแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ แต่นั้นก็เป็นเพียงการตีความตามกฎหมาย มิใช่การสรุปว่าสหกรณ์เป็นองค์กรที่แสวงหากำไรทางธุรกิจ อย่างเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจทั่วไปในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง:

1. https://th.wikipedia.org/wiki/มูลค่าส่วนเกิน

2. นุกูล กรยืนยงค์. 2554.  หลักและวิธีการสหกรณ์ Co-operative Principles and Practices.  เอกสารประกอบการบรรยายวิชาหลักและวิธีการสหกรณ์.

3. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

4. อาบ นคะจัด.  2536.  คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ.  สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก)

5. อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ.

ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในการตรากฎหมายสหกรณ์

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 6 : การสหกรณ์กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 6.1 : ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในการตรากฎหมายสหกรณ์ 

1. เสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 มาตรา 44 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 37 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 45 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 42 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น 

2. การส่งเสริมสนับสนุนระบบสหกรณ์ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 มาตรา 69 รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลผลิตทั้งในทางปริมาณและคุณภาพและพึงสนับสนุนการสหกรณ์เพื่อผลเช่นว่านั้นด้วย 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 67 วรรคสอง รัฐพึ่งคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิตและการ จำหน่ายผลผลิต โดยวิธีการประกันราคาหรือพยุงราคาตลอดจนการจัดระบบและควบคุมการผลิต และการจำหน่ายให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดหรือโดยวิธีอื่น และพึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์หรือวิธีอื่น 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 76 วรรคสาม รัฐพึ่งส่งเสริมคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิต การ เก็บรักษาและการจำหน่ายผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เป็น เป็นธรรม และพึ่งส่งเสริมให้ เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ดังกล่าวโดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์หรือวิธีอื่น 

3. ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 85 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ (9) ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระ และการรวมกลุ่มการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตลอดทั้งการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อดำเนินกิจการด้านเศรษฐกิจ 

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 75 วรรคสาม รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน 

กฎหมายสหกรณ์ 

- พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471

เหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471 ระบุว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพาะปลูกและจำพวกอื่น ๆ ที่มีกำลังทรัพย์น้อยแต่มีความต้องการ อย่างเดียวกัน หมู่ชนนั้น ๆ ควรได้รับอุดหนุนให้ตั้งสหกรณ์ขึ้นอีก เพื่อยังให้เกิดการประหยัดทรัพย์ การช่วยซึ่งกันและกันและการช่วยตนเอง เป็นทางอีกทางหนึ่งซึ่งเผยแผ่ความ จำเริญทรัพย์และจำเริญธรรมในบ้านเมืองให้ยิ่งขึ้น 

- พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511

เหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 กิจการของสหกรณ์ได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ แต่กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2471 และแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2477 จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ดีขึ้น 

- พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

เหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง การบริหารจึงต้องดำเนินการโดยสมาชิกตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 45 และมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์

- ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ให้บุคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสหกรณ์ โดยรัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครอง

 

- ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์ตามกฎหมายสหกรณ์ กำหนดให้องค์กรรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่แนะนำ ส่งเสริม กำกับ ดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และกรอบของอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์

สหกรณ์กับปัญหาความยากจน

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 5 : ความร่วมมือคือลมหายใจของสหกรณ์

ตอนที่ 5.1 สหกรณ์กับปัญหาความยากจน 

ถ้าจะกล่าวว่าสหกรณ์เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนก็คงไม่ถูกนัก แต่ถ้าบอกว่าปัญหาความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการสหกรณ์ก็คงจะไม่ผิด 

เป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ คือ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบันขบวนการสหกรณ์โลกยังมุ่งเน้นไปในมิติเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง) และมิติทางวัฒนธรรมด้วย 

ว่ากันด้วยการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ว่ากันเฉพาะเจาะจงด้วยเรื่องความยากจน ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปว่าสหกรณ์แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร จะขอเล่าให้ฟังพอสังเขปเกี่ยวกับความยากจนดังนี้ 

ความยากจน (Poverty) มีคนให้ความหมายไว้หลากหลายและกว้างขวางทั้งในระดับสากลและไทย อดอยาก แร้นแค้น อนาถา ล้าหลัง ด้อยพัฒนาเป็นความยากจนด้วยหรือไม่ หลายคนใช้ความรู้สึกวัด หลายคนใช้วิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative Methods) หลายคนใช้วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) ญาณวิทยา (Epistemology) ต่างกัน กระบวนทัศน์ (Paradigm) ต่างกัน ความยากจนจึงแตกต่างหลากหลายอธิบายให้ครบถ้วนคงเป็นเรื่องยาก ผมจึงขอสรุปเกี่ยวกับความยากจนสั้น ๆ ว่า 

ความยากจนจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ความยากจนที่แท้จริง ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ และความยากจนเชิงโครงสร้าง 

ความยากจนที่แท้จริง คือสภาวะที่ผู้คนไม่สามารถแสวงหาปัจจัยต่าง ๆ มาเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) ของตนเองได้ โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม 

ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ เป็นการวัดความยากจนทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ตัวชี้วัดด้านรายได้ เช่น ช่องว่างความยากจน (Poverty Gap Ratio) ความรุนแรงของปัญหาความยากจน (Severity of Poverty) เส้นความยากจน (Poverty line) สัดส่วนคนจน จำนวนคนจน และ ค่าสัมประสิทธิ์ จีนี่ (Gini coefficient) 

ความยากจนเชิงโครงสร้าง คือการอธิบายสาเหตุแห่งความยากจนจากโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของสังคมที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำกัน ไม่เท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นต้น 

การเกิดขึ้นของ Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844 เพราะชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน 

การเกิดขึ้นของสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ.2459 เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนามีปัญหาหนี้สินจนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จากผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์กลายเป็นผู้เช่า ต้นเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนวิถีการผลิตทางการเกษตรจากการผลิตแบบดั้งเดิม (Primitive Cultivation) สู่ผลิตเพื่อการยังชีพ (Subsistence Farming) สู่การผลิตเพื่อการค้า (Intensive Farming) กลไกสำคัญของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวคือ Bowring Treaty ที่ลงนามในปี พ.ศ.2398 ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสหราชอาณาจักร 

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ.1760 สถาปนา ทุนนิยมยุโรป ทุนนิยมโลก” Bowring Treaty พ.ศ.2398 สถาปนา ทุนนิยมไทยเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต การสหกรณ์โลกที่เริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 การสหกรณ์ไทยที่เริ่มต้นในปี 2457 มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิเสธทุนนิยม 

ย้อนกลับไปที่ความยากจน จะเห็นว่าการสหกรณ์มุ่งแก้ปัญหาความยากจนในมิติเชิงโครงสร้าง มุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

อุดมการณ์สหกรณ์โลกก่อเกิดและตั้งอยู่มา 177 ปี อุดมการณ์สหกรณ์ไทยก่อเกิดและตั้งอยู่มา 105 ปี แนวทางปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ (หลักการสหกรณ์สากล) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ไม่แน่นอน 

หลายสมาคมส่วนหนึ่งของชื่อมีคำว่า สหกรณ์แต่ดำเนินงานตามอุดมการณ์แบบทุนนิยม บางคนสถาปนาว่า สหกรณ์ทุนนิยม ผมฟังธงว่าไม่มีอยู่จริงในโลกทัศน์ของอุดมการณ์สหกรณ์ เพียงแต่ความจริงแล้วสมาคมนั้นไม่ใช่สหกรณ์ เพราะสหกรณ์มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าปฏิเสธทุนนิยม สหกรณ์ที่แท้จริงไม่แสวงหาความมั่งคั่ง แม้จะบันดาลความมั่งคั่งให้กับบรรดาสมาชิกก็ไม่ใช่สหกรณ์

 

สหกรณ์ที่แท้จริงสังเกตไม่ยากครับ เพียงแค่สัมผัสลมหายใจของสหกรณ์แท้ จะพบว่าลมหายใจนั้นเปี่ยมไปด้วย ความร่วมมือ ความเอื้ออาทร ความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความผาสุก

จิตวิญญาณสหกรณ์ (Cooperative Spirit)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 3 : จิตวิญญาณสหกรณ์ (Cooperative Spirit) 

ผมเขียนเรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ ตอนที่ 1 อุดมการณ์สหกรณ์ และ ตอนที่ 2 หลักการ และวิธีการสหกรณ์ โดยยังไม่ได้กล่าวถึงอย่างจริงจังเกี่ยวกับความหมายของสหกรณ์ และคุณค่าสหกรณ์ ซึ่งจะอธิบาย 2 เรื่องนี้ในเรื่องจิตวิญญาณสหกรณ์ 

เมื่อปี ค.ศ. 2012 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีแห่งสหกรณ์สากล (The International Year of Cooperatives) โดยเน้นถึงการมีส่วนร่วมของสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะผลกระทบต่อการลดความยากจน การสร้างงาน และการรวมกลุ่มทางสังคม ด้วยแนวคิด “Cooperative Enterprises Build a Better World” 

ท่าน Ban Ki-moon เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น กล่าวไว้ว่า การขับเคลื่อนค่านิยมสหกรณ์อย่างอย่างโดดเด่นชัดแจ้ง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสหกรณ์เป็นรูปแบบธุรกิจที่ยืดหยุ่นและทำงานได้มีประสิทธิภาพ สามารถประสบความสำเร็จได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความสำเร็จนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ครอบครัวและชุมชนจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน 

มีการนำประเด็นเกี่ยวกับปีแห่งสหกรณ์สากล ไปขยายความต่อใน The Cooperative Spirit and its Many Manifestations ซึ่งมีการอธิบาย จิตวิญญาณสหกรณ์ ว่าเป็นการรู้แจ้งเห็นจริงเรื่องความร่วมมือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การให้ความสำคัญต่อชุมชน ซึ่งความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ระหว่างผู้คนทั่วโลกคือเครืองมือสำคัญของวิวัฒนาการต่อไปของโลก 

ICA อธิบายให้นิยามความหมายของคำว่า สหกรณ์ (Definition of a Cooperative) และคุณค่าสหกรณ์ (Cooperative values) ว่า 

สหกรณ์ คือสมาคมอิสระที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลโดยสมัครใจ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรที่เป็นเจ้าของร่วมกันตามหลักประชาธิปไตย 

คุณค่าสหกรณ์ ตั้งอยู่บนค่านิยมของการช่วยเหลือตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียม ความยุติธรรม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตามแนวทางของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ ตามความเชื่อของสมาชิกในคุณค่าทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใสเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคมและความเอื้ออาทรต่อชุมชน 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

1. https://www.un.org/en/events/coopsyear/

2. https://www.ru.org/index.php/economics/405-the-cooperative-spirit-and-its-many-manifestations

3. https://www.ica.coop/en/cooperatives/cooperative-identity#definition-of-a-cooperative

มูลค่าหุ้นกับหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 2 : หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods)

ตอนที่ (พิเศษ) : มูลค่าหุ้นกับหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3 

ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก สมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน ผมไม่รู้ว่าปัญหานี้มีมานานแค่ไหน เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ปัจจุบันผมต้องแนะนำส่งเสริมอธิบายเรื่องนี้อยู่เนือง ๆ ปัญหาสมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน เนื่องจากมูลค่าหุ้นลดน้อยถอยลงด้อยค่าจนมีค่าต่ำกว่าศูนย์บาทต่อหุ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองทำความเข้าใจกันดูครับ

ทำความเข้าใจเรื่องหุ้นในสหกรณ์ตามกฎหมาย

พ.ร.บ.สหกรณ พ.ศ.2471

มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า

(6) จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรร์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ต้องหนี้สินของสหกรณ์จำกัดเพียงไม่เกินราคาหุ้นของตนที่ยังส่งไม่ครบ

(7) ไม่จำกัดสินใช้ให้หมายความว่า สมาชิกแห่งสหกรร์อันได้จดทะเบียนแล้วนั้น ทุกคนต้องรับใช้หนี้สินของสหกรณ์รวมกันและแทนกันไม่มีจำกัด

มาตรา 14 สมาชิกซึ่งออกจากสหกรณ์ไปนั้นต้องมีส่วนร่วมรับแบกหนี้สหกรณ์ตามจำนวนเงินที่สหกรณ์เป็นหนี้อยู่เมื่อวันซึ่งตนออกมีกำหนดสองปี นับแต่วันที่ออกจากสมาชิก

พ.ร.บ.สหกรณ พ.ศ.2511

มาตรา 7 สหกรณ์มีสองชนิด

1) สหกรณ์จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

2) สหกรณ์ไม่จำกัด คือสหกรณ์ซึ่งสมาชิกทุกคนมีความรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์โดยไม่จำกัด

มาตรา 11 (3) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กันและผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกแต่ละคนต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ต้องไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด

มาตรา 14 ข้อบังคับของสหกรณ์จำกัดอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(5) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขายและการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น

มาตรา 20 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์จำกัดไม่ได้

พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไข

มาตรา 42 ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น

ลองมาดูที่วรรคสองตรงข้อความว่า เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้

ลองพิจารณาให้ชัดลงไปอีกว่า เงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ

สมการบัญชีกำหนดว่า สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน (ของสหกรณ์)

สหกรณ์ที่เข้มแข็งดำเนินงานตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ และมีธรรมาภิบาล สมการบัญชีดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่มาจากส่วนที่เป็นทุนที่งอกเงย ทุนที่งอกเงยส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้นของสมาชิกและการจัดสรรกำไรสุทธิเข้าสู่ทุนต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยเฉพาะทุนสำรอง

อนึ่ง หากสหกรณ์ดำเนินการโดยไม่ยึดถือศรัทธาอุดมการณ์ หลักการ ไม่ดำเนินงานด้วยวิธีการสหกรณ์ สมการบัญชีดังกล่าว สินทรัพย์จะมีสัดส่วนของหนี้สินกับทุนที่แตกต่างออกไป กล่าวคือหนี้สินจะมีมากขึ้น ๆ และหากมีการขาดทุนไปเรื่อย ๆ ทุนที่มีอยู่ก็จะหดหายไป หนี้สินก็ต้องชดใช้ ทุนก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการถูกนำไปชดใช้หนี้สิน

การคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อให้สะท้อนผลการดำเนินงานของสหกรณ์จึงมีความสำคัญยิ่งตามเจตนารมณ์ มาตรา 42 ตรงที่บัญญัติว่า สมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือและ เงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้ออกแนวปฏิบัติการคำนวณมูลค่าหุ้นไว้ในคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องแนวปฏิบัติในการจ่ายคืนค่าหุ้น กรณีสหกรณ์/ชุมนุมสหกรณ์ขาดทุนสะสม พ.ศ.2549 ซึ่งคำแนะนำนี้ใช้คู่กับคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 278/2549 โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าการคำนวณมูลค่าหุ้นตามคำแนะนำดังกล่าวสะท้อนสมการบัญชีได้ดีที่สุดแล้ว

ตอนเที่ยงวันนี้ผมดูหนังเรื่อง Justice League ตอนที่นางเอกกำลังต่อสู้กับอสูรผู้มีร่างกายใหญ่ยักษ์และมีฤทธิ์มาก อสูรถามนางเอกว่าเจ้าจะสู้ข้าทำไม นัยว่าสู้ไปก็มีแต่แพ้และต้องตาย นางเอกตอบว่า “I am a believer.” แปลว่าฉันมีศรัทธา ผมนี่ดวงตาเห็นธรรมเลย นึกถึงอุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์ขึ้นมาทันที ไม่ได้โม้นะนี่

ผมไม่ได้ศรัทธาอุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์เพราะว่าผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ แต่ผมศรัทธาเพราะผมศึกษาจนรับรู้และเข้าใจว่า การสหกรณ์นี้มีคุณค่าต่อสังคมโลกเพียงใด วันนี้พรุ่งนี้หากผมไม่ได้ทำงานในแวดวงสหกรณ์ ผมก็ยังคงมีศรัทธาต่อการสหกรณ์ตลอดไป ไม่มีอะไรมาเปลี่ยน เพราะผมเชื่อแล้วศรัทธาแล้วจริง ๆ

ย้อนกลับมาที่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพแล้วไม่ได้เงินค่าหุ้นคืน มันก็สะท้อนให้เห็นเรื่องความศรัทธาอย่างชัดเจนเช่นกัน ทำไมสมาชิกยังเข้าใจว่าจะต้องได้เงินค่าหุ้นคืนทั้ง ๆ ที่สหกรณ์ขาดทุนสะสมจนมูลค่าหุ้นติดลบ จากประสบการณ์ของผมอธิบายในเชิงกฎหมายก็แค่พอทำให้เข้าใจได้บางส่วนแต่ความไม่พอใจยังคงคุกรุ่น แต่พออธิบายด้วยหลักการสหกรณ์ข้อที่ 3 สมาชิกดังกล่าวก็มีท่าทีหายโมโหลงไปได้มากทีเดียว

การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) สมาชิกต้องเชื่อและศรัทธาในอุดมการณ์สหกรณ์ว่าจะพาหลุดพ้นจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้สำคัญมากว่าสหกรณ์ไม่ใช่พื้นที่แสวงหากำไรส่วนเกินเพื่อสะสมความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ แต่สหกรณ์มุ่งแสวงหา การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยการร่วมมือกันเองของหมู่มวลสมาชิกภายในสหกรณ์ ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ

การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่สหกรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม ไม่ใช้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีบัญชีแล้วมาดูผลการดำเนินงานในงบการเงินว่าเกิดผลกำไรเท่าไร จะแบ่งปันกันอย่างไร ฉะนั้นหากสมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมในระบบสหกรณ์ ตามหลักการสหกรณ์ข้อ 3 และข้ออื่น ๆ ให้ครบทั้ง 7 ข้อ ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ คงไม่มี หรือจะมีก็คงน้อยเต็มที เพราะสมาชิกทุกคนที่ศรัทธาในสหกรณ์จะเข้าใจว่า การกินดี อยู่ดีนั้น มันต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยเสมอและตลอดไป

หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 2 : หลักการ และวิธีการสหกรณ์ (Cooperative Principles and Cooperative Methods) 

ความเดิมตอนที่แล้ว ผมเขียนเรื่องอุดมการณ์สหกรณ์ อธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับเรื่อง อุดมการณ์ และที่มาของอุดมการณ์สหกรณ์ ก่อนจะเข้าเรื่องหลักการ และวิธีการสหกรณ์ ผมขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุดมการณ์เพิ่มเติมอีกนิดว่า 

วิธีการที่จะทำให้อุดมการณ์ดำรงอยู่ได้จะต้องผ่านเครื่องมือที่ใช้ติดตั้งระบบวิธีคิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลไกทางสังคม ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ กลไกด้านการปราบปราม (Repressive State Apparatus: RSA) หมายถึงกลไกเกี่ยวกับการใช้กำลัง ความรุนแรง การบังคับกดขี่ และกลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological State Apparatus: ISA) หมายถึงกลไกสังคมที่ทำงานในเชิงอุดมการณ์หรือกำหนดกรอบพฤติกรรมความเชื่อของคนในสังคมให้รู้สึกเต็มใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม 

อุดมการณ์มีภาคปฏิบัติการ (Practices) ที่จะทำให้อุดมการณ์ต่าง ๆ ได้รับการผลิตซ้ำและดำรงไว้ในชีวิตประจำวันของผู้คน ปฏิบัติการของอุดมการณ์ (Ideological Practices) สามารถสรุปได้ดังนี้ 

1) การทำให้ดูราวกับเป็นธรรมชาติ (Naturalization) ภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ไม่ได้อยู่ในระดับของจิตสำนึกแบบง่าย ๆ อุดมการณ์ทำงานลึกลงไปในจิตไร้สำนึก (Unconscious) ทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงและรู้สึกราวกับว่ากระบวนการนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเป็นไปโดยปริยาย (Naturalized/Taken-for-Granted) โดยผ่านกลไกต่าง ๆ 

2) การผสมกันระหว่างความจริงกับจินตนาการ (Real-and-Seemingness) การทำงานของอุดมการณ์จะใช้วิธีการผสมเรื่องจริงกับเรื่องลวงจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย วิธีการดังกล่าวเกี่ยวโยงกับเรื่องของการสื่อสารเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราสัมผัสผ่านสื่อเป็นโลกแห่งจินตนาการ แต่อีกด้านหนึ่งในฐานะเป็นผู้รับสารก็มีโลกแห่งความจริงบางอย่างอยู่ล้อมรอบตัวเรา 

3) การสร้างชุดโครงสร้างสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) อุดมการณ์จะทำงานผ่านชุดโครงสร้างสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) ลำดับแรกจะมีการแบ่งขั้วความหมายออกเป็นความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม (Binary of Positions) และลำดับถัดมาจะมีการกำหนดชั้นของคุณค่า (Hierarchy of Values) ลงไว้ในขั้วความสัมพันธ์นั้น 

4) การผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Reproduction of Ideology) Althusser เชื่อว่าในมิติของจิตสำนึกและความคิดเองต้องมีการทำหน้าที่ผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Ideological Reproduction) มีคำถามที่สำคัญคือ ใครมีอำนาจในการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ และกระบวนการผลิตซ้ำดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร 

สรุปได้ว่า อุดมการณ์เพียงแค่ด้วยตัวมันเองไม่สามารถขับเคลื่อนผู้คนในสังคมให้ไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการได้ มันจะต้องมีภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ดังที่ได้อธิบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ แล้วอุดมการณ์สหกรณ์มีภาคปฏิบัติการอย่างไร มีรายละเอียดดังนี้ครับ 

องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance: ICA) ได้อธิบายเกี่ยวกับความหมายของสหกรณ์ (Definition of a Cooperative) คุณค่าสหกรณ์ (Cooperative values)  และ หลักการสหกรณ์ (Cooperative Principles) ไว้ ซึ่งขบวนการสหกรณ์ทั่วโลกได้ยึดถือเป็นแนวความเข้าใจเดียวกัน 

ซึ่งมีรายละเอียดดังจะได้อธิบายต่อไป แต่ผมจะขอข้ามเรื่องความหมายของสหกรณ์ และคุณค่าสหกรณ์ไปก่อน 

ICA อธิบายว่า หลักการสหกรณ์คือ การนำคุณค่าสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ (The cooperative principles are guidelines by which cooperatives put their values into practice.) 

สำหรับผมเข้าใจว่า หลักการสหกรณ์เป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่า การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมหมายความว่าผู้คนที่เชื่อมั่นยึดถือว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” เชื่ออย่างเดียวไม่พอต้องปฏิบัติการตามแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ด้วย จึงจะบรรลุเป้าหมาย การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม 

แนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ในความเข้าใจของผม ประกอบไปด้วย 

1. การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง (Voluntary and Open Membership) เจตนารมณ์ของหลักการสหกรณ์นี้อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับนับถือกันโดยไม่จำกัดหรือกีดกันเรื่องความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในมิติต่าง ๆ  หนุนเสริมภราดรภาพระหว่างผู้คนในสังคม

2. การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control) กล่าวได้ว่าเป็นหลักการที่หนุนเสริมยกชูสิทธิและเสรีภาพของผู้คนให้เท่าเทียมกัน จะเหลื่อมล้ำดำขาวมากจากไหน ใครตีตราให้คุณค่าอย่างไร แต่ถ้าเข้ามาอยู่ในระบบสหกรณ์แล้ว คนสหกรณ์ย่อมเท่ากันทุกคน 

3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation) ผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการสหกรณ์ตั้งแต่จุดแรกเริ่มเดิมที มีที่มาจากการถูกขูดรีดกำไรส่วนเกิน (ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่ยุติธรรม และสาเหตุอื่น) ตามที่ผมอธิบายไว้แล้ว ตอนที่ 1 : อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) จึงเชื่อในอุดมการณ์สหกรณ์ว่าจะพาหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว ตรงนี้สำคัญมากว่าสหกรณ์ไม่ใช่พื้นที่แสวงหากำไรส่วนเกินเพื่อสะสมความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ แต่สหกรณ์มุ่งแสวงหา การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมด้วยการร่วมมือกันเองของคนสหกรณ์ภายในสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่สหกรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม ไม่ใช้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีบัญชีแล้วมาดูผลการดำเนินงานในงบการเงินว่าเกิดผลกำไรเท่าไร จะแบ่งปันกันอย่างไร (เดี่ยวจะได้อธิบายเป็นการเฉพาะในตอนต่อไปเรื่อง กำไรในระบบสหกรณ์”) ฉะนั้นการที่สมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมในระบบสหกรณ์ จึงนำพาให้เป้าหมายของอุดมการณ์บรรลุผล 

4. การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence) ผู้คนที่ถูกขูดรีดกำไรส่วนเกินเมื่อได้ตกลงปลงใจเข้าร่วมขบวนการสหกรณ์แล้ว ย่อมตระหนักว่าความเปิดกว้างไม่กีดกันของสหกรณ์ ความเท่าเทียมกันของคนสหกรณ์ การมีส่วนร่วมแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสหกรณ์ นั้นหอมหวานและสุขใจแค่ไหน จึงต้องหวงแหนโดยรักษาความดีงามต่าง ๆ ในระบบสหกรณ์ไว้ เพื่อให้สหกรณ์ยังปฏิบัติการเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางอุดมการณ์สหกรณ์ของทุกคนไว้ ไม่ให้ถูกครอบงำแทรกแซง จนสหกรณ์ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันตามอุดมการณ์สหกรณ์ 

5. การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ (Education, Training, and Information) ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy) เปรียบเสมือนหัวใจของแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุค จาก pre-modern modern สู่ post-modern ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนักคิด นักปรัชญา ได้สถาปณา อำนาจ ความรู้ ความจริง ตลอดจนอุดมกาณ์ของเรื่องราวต่าง ๆ ไว้มากมาย ความเชื่อบางความเชื่อยังดำรงอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบัน หลายความเชื่อถูกลบล้าง ถอดรื้อ และสร้างใหม่ การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ เพื่อให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และผู้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ที่ถูกต้อง จึงเป็นแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสหกรณ์ พัฒนาขบวนการสหกรณ์ พัฒนาสังคม และรักษาคุ้มครองระบบสหกรณ์ไว้ตราบเท่าที่การสหกรณ์ยังสามารถนำพาผู้คนสู่เป้าหมายแห่งอุดมกาณ์สหกรณ์ 

6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives) ปัญหาการถูกขูดรีดกำไรส่วนเกิน (ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่ยุติธรรม และสาเหตุอื่น) นำพาผู้คนที่ต้องการหลุดจากปัญหาดังกล่าวมาร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ ความเชื่อความศรัทธาในเรื่อง การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก่อให้เกิด Rochdale Pioneers ในปี ค.ศ. 1844 ก่อให้เกิด สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ในปี พ.ศ.2459 เอกสารชื่อ Measuring the Size and Scope of the Cooperative Economy: Results of the 2014 Global Census on Co-operatives เผยแพร่ใน https://www.un.org/esa/socdev/documents/2014/coopsegm/grace.pdf ระบุว่า ปี ค.ศ.2014 มีสหกรณ์ทั่วโลกจำนวน 2.6 ล้านแห่ง สมาชิกกว่า 1,000 ล้านคน จาก 145 ประเทศ การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในสหกรณ์ 1 แห่ง ก่อให้เกิด การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ฉันใด การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ ก็ย่อมก่อให้เกิด การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคมโลกฉันนั้น 

7. การเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community) ขบวนการสหกรณ์ไม่สามารถพาทุกคนในสังคมขึ้นขบวนการสหกรณ์ไปสู่ การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ได้ เนื่องจากแนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์วางไว้ว่า การเป็นสมาชิกต้องเป็นไปโดยสมัครใจและเปิดกว้าง แม้สหกรณ์จะเปิดกว้าง แต่ถ้าผู้คนยังไม่เข้าใจ และยังไม่สมัครใจ เขาก็ย่อมยังไม่เข้าสู่ระบบสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ ตลอดจนแบ่งปัน การกินดี อยู่ดี ความเป็นธรรม และสันติสุขสู่ทุกคนในชุมชนและสังคม โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะพาทุกคนขึ้นขบวนการสหกรณ์ไปด้วยกันโดยความสมัครใจและเปิดกว้างอย่างแท้จริง 

แนวทางของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์สหกรณ์ หรือหลักการสหกรณ์ดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์สหกรณ์ได้ ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติการ หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกว่า วิธีการสหกรณ์

 

ถ้าอธิบายแบบสั้นมาก ๆ วิธีการสหกรณ์ คือการนำหลักการสหกรณ์สากลทั้ง 7 ข้อ มาปฏิบัติ แต่ผมจะขออธิบายขยายความอีกหน่อยว่า ต้องปฏิบัติไปบนพื้นฐานของการคุ้มครองระบบสหกรณ์ และคุ้มครองสังคม สหกรณ์ปกครองตนเองและความเป็นอิสระก็จริง แต่ต้องไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม และต้องรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อสังคมมีตัวบทกฎหมายในการคุ้มครองสังคม วิธีการสหกรณ์ ก็ต้องสอดคล้องกับบริบทและกฎระเบียบของสังคมนั้น ๆ ด้วย หลักการสหกรณ์สากลจึงมีเจตนารมณ์ที่เป็นแก่นแท้ให้เกิดการตอบสนองต่อเป้าหมายแห่งอุดมการณ์สหกรณ์ เมื่อนำหลักการสหกรณ์สากลมาปฏิบัติการก็ให้รักษาแก่นแท้นั้นไว้ แต่ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมต่าง ๆ เพื่อสมเจตนา มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology)

 ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ (Cooperative Literacy)

ตอนที่ 1 : อุดมการณ์สหกรณ์ (Cooperative Ideology) 

ผู้คนที่ยึดแนวทางสหกรณ์ในการดำเนินชีวิตเชื่อว่า “การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” ความเชื่อดังกล่าว เรียกว่า “อุดมการณ์สหกรณ์” 

อุดมการณ์นั้นสำคัญไฉน ขออธิบายพอสังเขป ดังนี้

คำว่าอุดมการณ์ (Ideology) เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน “อุดมการณ์” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ว่าหมายถึง อุดมคติอันสูงส่งที่จูงใจมนุษย์ให้พยายามบรรลุถึง ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำนิยามว่าหมายถึง หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีนักวิชาการบางคนให้ความหมายของ Ideology ว่า “อุดมคติ” (Ideal) ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่าหมายถึง จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน

Merriam Webster’s New Biographical Dictionary (2021: Online) ให้ความหมายของ Ideology ว่าคือ การอธิบายว่าด้วยระบบของแนวคิดที่เกี่ยวกับชีวิต และวัฒนธรรมความเชื่อของคน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอธิบายลักษณะเฉพาะทางความคิดของบุคคล กลุ่มคน หรือสังคม ตลอดจนการอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎี และเป้าหมายที่ก่อขึ้นเป็นระบบความเชื่อทางการเมืองของสังคม 

คำว่าอุดมการณ์ เริ่มใช้กันครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ปีค.ศ.1797 โดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อ Antoine Louis Claude Destuttde Tracy เขาใช้คำนี้เรียกการศึกษาอย่างมีระบบของพวกพบแสงสว่าง (Enlightenment) ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 19 โดยที่คนกลุ่มนี้เชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงสามารถหาได้โดยอาศัยประสบการณ์ เชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงสังคมและสภาวการณ์ทางการเมืองได้ คำว่า Ideology ในบริบทนี้จึงถูกแปลว่า ศาสตร์แห่งความรู้ที่แน่นอน (Science of Ideas) 

กลุ่ม Marxist ใช้คำว่าอุดมการณ์ในความหมายเชิงประเมินค่า Marx ใช้คำนี้โดยหมายความว่า “ความเชื่อหรือความคิดที่ผิด (False Consciousness)” ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญสามประการ คือ 1) ความคิดที่ผิดนี้ไม่นับรวมความคิดของพวก Marxist 2) ความคิดที่ผิดบางชนิดที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือการตั้งสมมติฐานผิด ไม่นับรวมเป็นความคิดที่ผิดพลาด และ 3) ความคิดที่ผิดที่ถือเป็นอุดมการณ์นั้นต้องเป็นความเชื่อที่มีผลทางการปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความเชื่อของคนทั้งกลุ่ม เช่น ความเชื่อทางศาสนา ความคิดแบบจิตนิยม ความคิดเหล่านี้ Marx ถือเป็นความคิดที่ผิดหรืออุดมการณ์ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งสิ้น 

Marx อธิบายว่าอุดมการณ์มีลักษณะทางสังคม ในแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละสังคม แต่ละกลุ่มคนมีอุดมการณ์ทั้งร่วมและต่างกัน ทฤษฎีอุดมการณ์ของ Marx เสนอให้สนใจตอบปัญหาพื้นฐาน 3 ประการ ประการแรกความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ประการที่สองความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาทำไม และประการสุดท้ายความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นมาทำหน้าที่อะไรบ้าง Marx ได้สรุปกฎพื้นฐานของความสำพันธ์ระหว่างตัวแปร 3 ตัว คือ อุดมการณ์ จิตสำนึก และการปฏิบัติการทางสังคมไว้ว่า “จิตสำนึกของคนเกิดมาจากปฏิบัติการในชีวิตจริง และความคิดหรืออุดมการณ์ของคนไม่ได้เกิดมาจากตัวเขาคนเดียว และไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า หากแต่เกิดมาจากความสัมพันธ์ที่ตัวเขาและกลุ่มที่มีต่อกันและกัน โดยตัวแปรทั้ง 3 นี้มีความสัมพันธ์ในเชิงวิภาษวิธี คือต่างกำหนดซึ่งกันและกัน” 

ขณะที่ Althusser ให้นิยามของอุดมการณ์ว่าเป็น ชุดความคิดหรือกรอบวิธีคิด (Set of Idea or Conceptual Framework) ที่ได้รับการติดตั้งไว้สำหรับการทำความเข้าใจตัวเรา โลก และสังคม หรือ กรอบวิธีคิดในการสร้างความหมายต่อตัวเราและโลกรอบตัว 

โดยสรุปแล้ว อุดมการณ์เป็นความเชื่อที่มีผลทางการปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความเชื่อของคนทั้งกลุ่ม เป็นกรอบวิธีคิดในการสร้างความหมายต่อตัวเราและโลกรอบตัว 

อุดมการณ์สหกรณ์ มีที่มาอย่างไร

Robert Owen (The Father of English Socialism and The Father of World Cooperative) คิดและวางรากฐานด้านการสหกรณ์ เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 แนวคิดการสหกรณ์ มีวิธีการพัฒนาการสหกรณ์ โดยเริ่มต้นจาก Co-operative Magazine ของชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 วางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี 1826 และเกิด Rochdale Pioneers ในปี 1844 

การสหกรณ์ไทยเริ่มก่อตัวขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และเกิดขึ้นต้นรัชกาลที่ 6 โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เป็นผู้ทรงวางรากฐานด้านการสหกรณ์ และทรงตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ชื่อ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ 

คำชี้แจงเรื่องสหกรณ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ แสดงแก่สมาชิกสหกรณ์ประเภทหาทุนในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ส่วนหนึ่งว่า

“...คนที่มาร่วมกันเข้าเป็นสหกรณ์ประเภทหาทุนนี้โดยมากความมุ่งหมายในชั้นแรกมีอยู่ คือ จะกู้เงินดอกเบี้ยตํ่ามาใช้หนี้เก่าซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยสูง และเมื่อเหลือใช้หนี้แล้วก็เอาไว้เป็นทุนทำนาต่อไปบ้าง”

ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรไทยในสมัยนั้นยากจนและมีหนี้สิน สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ เมื่อแรกตั้งมีสมาชิก 16 คน มีทุนดำเนินงาน 3,080 บาท เป็น ค่าธรรมเนียมแรก เข้า 80 บาท และเงินทุนซึ่งกู้จากแบงก์สยามกัมมาจล เป็นจำนวน 3,000 บาท ธนาคารฯ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 สหกรณ์ให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 สมาชิกเอาเงินกู้ที่ได้ไปชำระหนี้ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 12 ที่เหลือจึงเอามาลงทุนทำนา 

มูลเหตุของการเกิดขึ้นของ Rochdale Pioneers และสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ มีบริบทที่แตกต่างกัน (สังคมแรงงานกับสังคมเกษตร) แต่เหมือนกันคือถูกเอารัดเอาเปรียบ แรงงานอังกฤษถูกกดค่าแรงงาน ขณะที่เกษตรกรสยามถูกขูดรีดดอกเบี้ย 

การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” จึงเป็นความเชื่อระดับที่อยู่เหนือกระบวนทัศน์ (Paradigm) มีความลึกซึ้ง มีเป้าหมายปลดเปลื้องพันธนาการอันเกิดจากความไม่ยุติธรรมเท่าเทียม ให้เกิดการกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

 

ผมเขียนอธิบาย “อุดมการณ์สหกรณ์”เพื่อให้ผู้คนที่สนใจและผู้คนในขบวนการสหกรณ์ได้ตระหนักว่า หากเรายังยึดมั่นในอุดมการณ์สหกรณ์ หากเรามีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสหกรณ์ วิธีการดำเนินงานของสหกรณ์ก็จะอำนวยให้เกิดผลดีแก่ผู้คนในขบวนการสหกรณ์และสังคมโดยรวม

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...