วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การนำที่ ส.ป.ก. ไปค้ำประกันเงินกู้

มีเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ครอบครัวหนึ่ง เล่าปัญหาให้ผมฟังเกี่ยวกับการนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปค้ำประกันเงินกู้ ซึ่ง สถาบันการเงินส่วนใหญ่เขาไม่รับนะครับ เพาะเป็นที่ดินของรัฐ เกษตรกรเป็นเพียงผู้มีสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพราะหากมีการผิดนัดการชำระหนี้ เจ้าหนี้จะไปฟ้องคดีบังคับคดีเอาที่ดิน ส.ป.ก. ออกขายทอดตลาดไม่ได้ เนื่องจากที่ดิน ส.ป.ก. เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตามมาตรา 36 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไข กำหนดว่า “บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม”

ที่ดิน ส.ป.ก. จึงถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ห้ามยึด และ ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่ตนได้ ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 1307 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดว่า “ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่”

แต่มี 2 แหล่งเงินกู้ที่เกษตรกรผู้มีสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนี้

1. เกษตรกรนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรม ( ส.ป.ก.) กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรื่อง การให้ผู้ได้รับสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขอรับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556

2. เกษตรกรผู้มีสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. สามารถกู้เงินกับกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2554

อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 สปก. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) การร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียน ต่อ กฟก. และได้นำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ประกันหนี้ไว้กับ ธ.ก.ส. แล้วไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ ธ.ก.ส. ได้ เมื่อ กฟก. เข้ารับภาระหนี้แทนเกษตรกรที่ค้างชำระหนี้ กับ ธ.ก.ส. แล้ว ให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีสิทธินำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มาเป็นประกันหนี้ กับ กฟก. ได้

ส่วนหนี้สหกรณ์การเกษตร สปก. ได้ขอความอนุเคราะห์กรมส่งเสริมสหกรณ์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับสหกรณ์ เรื่องความคืบหน้ากรณีการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนำ ส.ป.ก. 4-01 วางเป็นหลักประกันหนี้กับสหกรณ์การเกษตร โดยได้มีการจัดประชุมหารือระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรณีเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ไปวางเป็นหลักประกันหนี้กับสหกรณ์การเกษตร โดย

1. การนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ไปวางเป็นประกันการชำระหนี้กับสหกรณ์การเกษตร ถือเป็นหลักประกันที่ไม่มีผลผูกพันกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

2. กรณีกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พิจารณารับชำระหนี้สินของเกษตรกรให้กับสหกรณ์การเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยินดีให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ยึดถือหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นประกันการชำระหนี้ได้

3. สปก. ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการถือครองที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ของสมาชิกสหกรณ์ กรณีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พิจารณารับชำระหนี้สินของเกษตรกรให้กับสหกรณ์การเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...