วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การลงทุนในหุ้นกู้ของสหกรณ์

 สหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) กำหนด ตามมาตรา 62 (7) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย คพช. กำหนดเรื่อง กรณีลงทุนในหุ้นกู้ (ตราสารแสดงสิทธิในหนี้) ต้องเป็นหุ้นกู้ที่มีหลักประกันหรือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง และหุ้นกู้ไม่กำหนดอายุไถ่ถอน (ประกาศ คพช. เรื่องข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนฯ ปี 2563 ข้อ 2) และต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไป จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ประกาศ คพช. เรื่องข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนฯ ปี 2563 ข้อ 3 (6)) 

คณะกรรมการของสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ (สินทรัพย์เกิน 5,000 ล้านบาท) และชุมนุมสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ จัดให้มีนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อการลงทุน สภาพคล่อง และปฏิบัติการ  รวมทั้งจัดให้มีการทบทวนนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ (กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3)) และกำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับการฝาก การลงทุน  การกู้ยืมจากสหกรณ์อื่นและสถาบันการเงิน และการค้ำประกันเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์พิจารณาอนุมัติ (กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (7) 

ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ และชุมนุมสหกรณ์ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ และรับผิดชอบการดำเนินการเฉพาะด้าน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น (กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 6) 

สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าร้อยละยี่สิบของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรอง หรือเงินลงทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการลงทุน เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งดูแลและจัดการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการลงทุนดังกล่าว (กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 7) 

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (ออนไลน์) อธิบายว่า หุ้นกู้ที่ ก.ล.ต. อนุญาตให้บริษัทออกขาย ไม่ได้การันตีว่าหุ้นกู้นั้นไม่เสี่ยง ก.ล.ต. เพียงพิจารณาว่าบริษัทได้ทำตามขั้นตอนและมาตรฐานในการออกหุ้นกู้ครบถ้วนแล้ว ความเสี่ยงของหุ้นกู้นั้นดูได้จาก Credit Rating ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับเครดิต หรือคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า CRA (Credit Rating Agency) ที่ ก.ล.ต เห็นชอบ ซึ่งในประเทศไทยมี 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด 

ก.ล.ต. อธิบายว่า การออกออกเรทติ้ง CRA จะดูลักษณะของบริษัท ผลประกอบการ หลักทรัพย์ค้ำประกัน เงื่อนไขที่กำหนดให้ปฏิบัติตาม รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีความสามารถชำระหนี้คืนขนาดไหน แล้วก็สะท้อนออกมาเป็นสัญลักษณ์ 

ลงทุนแมน (ออนไลน์) อธิบายเกี่ยวกับอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ ไว้ดังนี้

1. กลุ่ม AAA ถึง A- จะมีโอกาสไม่ได้เงินคืนอยู่ที่ 0.02% - 0.15%

2. กลุ่ม BBB+ ถึง BBB- จะมีโอกาสไม่ได้เงินคืนอยู่ที่ 1.41%

3. กลุ่ม BB+ ถึง B- จะมีโอกาสไม่ได้เงินคืนอยู่ที่ 3.17% - 3.93%

4. กลุ่ม CCC+ ถึง C จะมีโอกาสไม่ได้เงินคืนอยู่ที่ 31.82%

5. กลุ่ม D จะมีโอกาสไม่ได้เงินคืนอยู่ถึง 100% 

ก.ล.ต. อธิบายว่า ธรรมชาติของการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงตามหลักการ High Risk - High Return ส่วน Credit Rating นั้นเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ผลประกอบการของบริษัท การมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ข้อตกลงและสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม และปัจจัยภายนอก เช่น สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อธุรกิจ 

ตามข้อเท็จจริงเคยมีกรณีที่สหกรณ์นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ที่อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ลดลงต่ำกว่าระดับ A- ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้แจ้งเวียนหนังสือ (ที่ กษ 0404/ว 67 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560) ตอบข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการลงทุนในหุ้นกู้ โดยสิ่งที่ส่งมาด้วยเป็นหนังสือตอบข้อหารือของกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ที่ กษ 1115/131 ลงวันที่ 19 มกราคม 2560) มีสาระสำคัญว่า กรณีปัญหาสหกรณ์ได้ลงทุนในหุ้นกู้โดยในขณะที่ลงทุนบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ได้รับการจัตอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปตามประกาศ คพช. ถือว่าได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว แต่เมื่อต่อมาหุ้นกู้ดังกล่าวได้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ลงก็ไม่เป็นเหตุให้การลงทุนครั้งนั้นเสียไป เพียงแต่จะไม่สามารถซื้อหุ้นกู้เพิ่มได้ สำหรับกรณีปัญหาว่าจะต้องดำเนินการขายหุ้นดังกล่าวหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของ คพช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดการลงทุนดังกล่าวตามมาตรา 62 (7) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ที่จะกำหนดวิธีปฏิบัติว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร 

ปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้สหกรณ์บันทึกบัญชีเงินลงทุนของสหกรณ์ให้เป็นไปตาม ข้อ 18 – 24 แห่ง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 กรณี สหกรณ์ที่มีเงินลงทุนในหุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้แจ้งเป็นหนังสือถึงประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์และประธานสหกรณ์ ที่ กษ 0404/ว 61 ลงวันที่ 29 กันยายน 2564 เรื่อง วิธีปฏิบัติทางบัญชีสำหรับสหกรณ์ที่มีเงินลงทุนในหุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...