วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การเลือกตั้งในสหกรณ์

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ สหกรณ์ หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน...(มาตรา 4) สหกรณ์ต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ (มาตรา 33) และให้สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 37) โดยผู้ซึ่งประสงค์จะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ที่จะขอจัดตั้งขึ้นต้องประชุมกันเพื่อ คัดเลือกผู้ที่มาประชุมให้เป็นคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์จำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน (มาตรา 34) ทั้งนี้ สหกรณ์ย่อมเลิกด้วยเหตุสหกรณ์มีจำนวนสมาชิกน้อยกว่าสิบคน (มาตรา 70 (2))

จากข้อกฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่าสหกรณ์มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีคณะบุคคลหรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน มาร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กฎหมายจึงกำหนดให้สหกรณ์มีผู้แทนนิติบุคคลที่เรียกว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก...(มาตรา 51)

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับสหกรณ์ โดยข้อบังคับฯ ต้องกำหนดคุณสมบัติไม่ขัดต่อ มาตรา 52 และต้องมาจากการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่เท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดว่า ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก (มาตรา 50)

ในมาตรา 50 นี้ จะเห็นว่า ประธานกรรมการและกรรมการอื่น หมายถึง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีได้ไม่เกินจำนวน 15 คน โดยประธานกรรมการและกรรมการอื่นต้องถูกเลือกตั้งมาจากที่ประชุมใหญ่เท่านั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (มาตรา 43 (9)) ซึ่งหากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ที่ประชุมใหญ่ก็มีอำนาจถอดถอนจากตำแหน่งทั้งคณะหรือรายบุคคล (มาตรา 43 (9) และ มาตรา 52 (4))

การที่กฎหมายกำหนดให้ข้อบังคับของสหกรณ์ต้องมีรายการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง (มาตรา 43 (9)) ประกอบกับประธานกรรมการและกรรมการอื่นต้องถูกเลือกตั้งมาจากที่ประชุมใหญ่ (มาตรา 50) จะเห็นว่าเจตนารมณ์ตามมาตรา 50 เป็นการเลือกตั้งทางตรง ไม่ใช่การเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งความหมายของการเลือกตั้ง และรูปแบบการเลือก มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

การเลือกตั้ง หมายถึงการเลือกสรรบุคคลให้เป็นผู้แทนหรือให้ดำรงตำแหน่งด้วยการออกเสียงลงคะแนน เช่น เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งกรรมการ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)

สุทธิมาตร จันทร์แดง (ม.ป.พ.) อธิบายว่า การเลือกตั้งโดยตรง (Direct Vote หรือ Direct Suffrage) หมายถึง การเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเลือกผู้สมัครในแต่ละตำแหน่งได้โดยดรง โดยไม่ต้องผ่านบุคคลหรือองค์การอื่นใดซึ่งจัดเป็นวิธีการที่สะดวกและรวดเร็ว สอดคล้องกับการอธิบายของ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ว่า การเลือกตั้งทางตรง (Direct election) เป็นกระบวนการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองได้โดยตรง โดยการตัดสินผู้ชนะการเลือกตั้งนั้นขึ้นอยู่กับระบบการลงคะแนนที่ใช้ โดยส่วนมากใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่ (Plurality system) และระบบสองรอบ (Two-round system) เพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียว อาทิเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อในสภานิติบัญญัติ

ส่วนการเลือกตั้งทางอ้อม (Indirect Vote หรือ Indirect Suffrage) สุทธิมาตร จันทร์แดง (ม.ป.พ.) อธิบายว่า หมายถึง การเลือกตั้งที่มีบุคคลหรือคณะบุคคลหรือมืองค์กรใดองค์กรหนึ่ง (Electoral College) มาคั่นกลางระหว่างประชาชนกับสภาผู้แทนซึ่งเป็นวิธีการที่กำหนดให้ประชาชนทำการเลือกผู้แทนเพื่อไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกครั้งหรือให้ประชาชนทำการเลือกผู้แทนเพื่อไปเลือกบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ สอดคล้องกับการอธิบายของ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ว่าเป็นการเลือกตั้งในสองระดับ กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิการเลือกตั้งเลือกตัวแทนหรือคณะบุคคล จากนั้นตัวแทนหรือคณะบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจะไปดำเนินการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ๆ ต่อไป ลักษณะเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งทางอ้อมเป็นรูปแบบที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นได้โดยตรง แต่เป็นการมอบหมายสิทธิในการตัดสินใจให้กับตัวแทนหรือคณะบุคคลให้ทำหน้าที่แทน วัตถุประสงค์สำคัญของการเลือกตั้งทางอ้อม คือ การให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีความเหมาะสมในการใช้วิจารณญาณ ทำการตัดสินใจแทนผู้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ตามตำแหน่งทางการเมืองนั้น ๆ

ฉะนั้นเมื่อเจตนารมณ์ตามมาตรา 50 เป็นการเลือกตั้งทางตรง ไม่ใช่การเลือกตั้งทางอ้อม การกำหนดให้ข้อบังคับของสหกรณ์ต้องมีรายการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง (มาตรา 43 (9)) จึงต้องกำหนดให้เป็นวิธีการเลือกตั้งทางตรงเท่านั้น ส่วนวิธีการลงคะแนนเสียงของที่ประชุมใหญ่จะใช้แบบวิธีลับหรือวิธีเปิดเผยก็สามารถกำหนดได้ในข้อบังคับ เช่น กำหนดว่า

ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการดำเนินการอีกสิบสี่คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก

การเลือกตั้งกรรมการดำเนินการตามวรรคแรกให้กระทำโดยวิธีลับ และให้กรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน เลขานุการคนหนึ่ง และเหรัญญิกคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ และปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

จากการศึกษาเอกสารการตอบข้อหารือต่าง ๆ และจากประสบการณ์การปฏิบัติงานแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ พบว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขมีผลบังคับ การเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ตามมาตรา 50 มีการปฏิบัติใน 2 ลักษณะ คือ ใช้วิธีการเลือกตั้งโดยตรงตามเจตนารมณ์ของมาตรา 50 วรรคแรก และวิธีการเลือกตั้งโดยอ้อม (ในมุมมองของผม) โดยวิธีการสรรหาสมาชิกมาให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

รูปแบบและวิธีการสรรหาสมาชิกมาให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีวิธีการโดยสหกรณ์กำหนดระเบียบ ว่าด้วยการสรรหาผู้มาเป็นกรรมการสหกรณ์ โดยมีสาระสำคัญว่า โดยวิธีการสรรหาสมาชิกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ แล้วนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่น

ระเบียบดังกล่าวกำหนดวิธีการสรรหาสมาชิกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ แล้วนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่น ทำโดย

1. กำหนดเขตสรรหา เพื่อให้ผู้ที่จะได้รับการสรรหามาเป็นผู้แทนให้ที่ประชุมใหญ่รับรอง มาจากกลุ่มคนต่าง ๆ ของสหกรณ์ ส่วนใหญ่สหกรณ์ที่กำหนดระเบียบนี้ จะเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมาก และสมาชิกมีความหลากหลายด้านสายงาน

2. กำหนดหน่วยลงคะแนนและวิธีการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานกรรมการ หรือคณะกรรมการ มาให้ที่ประชุมใหญ่เลือก

3. ในระเบียบดังกล่าวยังระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกผู้ที่จะมาเป็นประธานกรรมการ หรือคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่รับรองต่อไป

มีข้อสังเกตว่า วิธีการสรรหาสมาชิกมาให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นการเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อม วิธีการดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 50 เป็นไปตามมาตรา 43 (9) หรือไม่ และประการสำคัญเมื่ออธิบายเชื่อมโยงไปยังหลักการสหกรณ์ที่ 1 2 และ 3 วิธีการสรรหาสมาชิกมาให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ยังคงสอดคล้องเชื่อมโยงกับหลักการสหกรณ์ดังกล่าวหรือไม่ ตลอดจนการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกผู้ที่จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นประธานกรรมการ หรือคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่รับรอง โดยกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมไปจากมาตรา 52 และมาตรา 89/2 (2) ซึ่งคุณสมบัติที่กำหนดตามระเบียบ ว่าด้วยการสรรหาของสหกรณ์บางข้ออาจขัดต่อ หลักการสหกรณ์ที่ 1 2 และ 3 หรือไม่ เนื่องจากการดำเนินงานของสหกรณ์ มีรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานสหกรณ์ ดังนี้

1) สมาชิกสหกรณ์ เป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน ใช้อำนาจในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ในการเลือกตั้งและถอดถอนประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ มีอำนาจในการอนุมัติงบการเงินประจำปี กำหนดแผนงาน กำหนดแผนงบประมาณ การแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ การกำหนดระเบียบบางระเบียบที่เป็นอำนาจโดยตรงของสมาชิกผ่านที่ประชุมใหญ่ เช่นระเบียบที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและทรัพย์สินของสหกรณ์ เป็นต้น

2) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์

3) ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และด้านปฏิบัติการในการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมทั้งการประเมินผลการควบคุมภายใน การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศของสหกรณ์ และการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ข้อบังคับกำหนด

4) เจ้าหน้าที่สหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทั่วไปและรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการ หรือคณะกรรมการอื่น ๆ ของสหกรณ์มอบหมายหรือตามที่ควรกระทำ เพื่อให้กิจการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี ตามที่กำหนดในข้อบังคับ และระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับการทำงาน

จากกรณีดังกล่าวได้มีการหารือเพื่อตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามาตรา 50 ซึ่งพบว่ามีการตอบข้อหารือหรือให้ข้อวินิจฉัยไว้ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 438/2543) มีความเห็นว่า ระเบียบหรือข้อบังคับของสหกรณ์ที่กำหนดให้มีการเลือกคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยวิธีการสรรหาสมาชิกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จำนวน 15 คน แล้วนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกเป็นประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 14 คน จะเป็นการขัดกับมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 หรือไม่ นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า โดยที่ระเบียบหรือข้อบังคับของสหกรณ์ที่กำหนดให้มีการเลือกคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยวิธีการสรรหาสมาชิกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำนวน 15 คน แล้วนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกเป็นประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 14 คน เป็นเพียงการกำหนดวิธีการในการเลือกสมาชิกของสหกรณ์เพื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์เท่านั้น เมื่อที่ประชุมใหญ่ยังคงเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จากสมาชิก การดำเนินการดังกล่าวจึงยังคงเป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ ดังนั้น ระเบียบหรือข้อบังคับของสหกรณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ขัดกับมาตรา 50 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ

คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ โดยคณะกรรมการศึกษาพิจารณาวางระบบ หลักเกณฑ์ กำกับวาระเป็นกรรมการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2546 ได้ให้ข้อแนะนำพร้อมประเด็นตัวอย่างไว้ดังนี้

ประเด็นที่ 1

ปัญหา: สหกรณ์ออมทรัพย์หนึ่ง จำกัด ได้กำหนดระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ โดยกำหนดเขตเลือกตั้ง 3 เขต ให้แต่ละเขตเลือกตั้งขึ้นก่อนแล้วนำผลการเลือกตั้งดังกล่าวมาให้ที่ประชุมใหญ่รับรอง ระเบียบดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่

แนวทางปฏิบัติ: คณะกรรมการดำเนินการที่ได้รับเลือกตั้งตามวิธีการที่กำหนดในระเบียบ ไม่ได้กระทำในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงขัดต่อมาตรา 50

ประเด็นที่ 2

ปัญหา: สหกรณ์ออมทรัพย์สอง จำกัด ได้กำหนดระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ ได้กำหนดว่าหากตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงวาระให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศชื่อผู้สมัครที่ได้รับคะแนนลำดับถัดไปของเขตเลือกตั้งนั้น ๆ เป็นกรรมการดำเนินการแทนจะกระทำได้หรือไม่

แนวทางปฏิบัติ: ระเบียบดังกล่าวมิได้เลือกตั้งกรรมการดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงขัดต่อมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

ประเด็นที่ 3

ปัญหา: สหกรณ์ออมทรัพย์สาม จำกัด ให้แต่ละหน่วยงานย่อยเลือกตั้งกรรมการดำเนินการในแต่ละหน่วยงานก่อนแล้วนำมาให้ที่ประชุมใหญ่รับรองอีกครั้งหนึ่ง จะกระทำได้หรือไม่

แนวทางปฏิบัติ: หน่วยงานย่อยจะเลือกตั้งกรรมการดำเนินการในแต่ละหน่วยงานแล้วนำมาให้ประชุมใหญ่รับรองอีกครั้งหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะไม่เป็นการเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 50 แต่ควรกำหนดในข้อบังคับว่าให้หน่วยงานย่อยมีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้ารับเลือกตั้งได้จำนวนกี่คน เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งอีกครั้ง หรือกำหนดสัดส่วนจำนวนกรรมการดำเนินการต่อจำนวนสมาชิกที่สังกัดหน่วยงานย่อย เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งตามสัดส่วนดังกล่าว

และมีข้อแนะนำว่า การกำหนดระเบียบการสรรหากรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่สามารถกำหนดระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการได้ เนื่องจากขัดต่อมาตรา 43 (9) แต่ในทางปฏิบัติสหกรณ์ได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการสรรหาบุคคลที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการก่อนถึงวันประชุมใหญ่ ข้อยุติในกรณีดังกล่าว สามารถแนะนำสหกรณ์ถือปฏิบัติได้ดังนี้

1. การออกระเบียบของสหกรณ์ควรจะกำหนดระเบียบอย่างไร

1.1 ระเบียบว่าด้วยการสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการ เป็นต้น

2. ขอบเขตของการกำหนดระเบียบเป็นอย่างไร

2.1 กำหนดการสรรหาบุดคลในแต่ละเขตหรือพื้นที่ หรือกำหนดโดวต้าของหน่วยงานหรือพื้นที่ว่าจะมีจำนวนกรรมการได้กี่คนสามารถกระทำได้

2.2 การเลือกตั้งหรือสรรหาบุคคลโดยการเลือกตั้งมาจากหน่วยงานหรือพื้นที่ก่อนจะเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งหรือสรรหาเบื้องต้นให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งอีกครั้ง ควรกระทำโดยให้จำนวนที่ได้มาจากการสรรหาข้างต้นมีจำนวนมากพอที่จะสามารถให้ที่ประชุมใหญ่มีตัวเลือกในการพิจารณา แต่หากเป็นการสรรหามาจำนวนพอดีก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งอีกครั้ง

กรณี สหกรณ์กำหนดระเบียบว่าด้วยการสรรหาคณะกรรมการดำเนินการ ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ และระเบียบได้กำหนดว่าหากตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศชื่อผู้สมัครที่ได้รับคะแนนลำดับถัดไปของเขตการเลือกตั้งนั้นเป็นกรรมการดำเนินการแทนตำแหน่งที่ว่าง จะสามารถกำหนดได้หรือไม่

นายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดตามระเบียบฯ มิได้เป็นการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ จึงขัดต่อมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 (หนังสือนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ กษ 1101/06602 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2543 ภาคผนวกที่ 38 หน้า 169)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...