วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ผู้รักษาการตามระเบียบสหกรณ์

กรณีสหกรณ์กำหนดระเบียบขึ้นถือใช้ แล้วกำหนดข้อสุดท้ายว่า ข้อ ... ให้ประธานกรรมการรักษาการตามระเบียบนี้บางระเบียบก็มีข้อความนี้ บางระเบียบก็ไม่มี สรุปว่าควรจะมีหรือไม่ และข้อความดังกล่าวมีความหมายและความสำคัญอย่างไร 

คำอธิบายเกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมาย 

สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (2557) อธิบายว่า ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ๆ เป็นผู้ทำหน้าที่ชี้แจงและตอบข้อซักถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา และประการสำคัญคือ ช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อกับทางราชการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากบทบัญญัติว่าด้วยผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นทำให้ทราบได้ทันทีว่า กระทรวงใดเป็นเจ้าของเรื่องที่มีอำนาจหน้าที่และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น 

นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์ (ม.ป.พ.) ที่อธิบายว่า บทกำหนดผู้รักษาการ คือ บทกำหนดผู้รับผิดชอบการปฏิบัติการตามกฎหมายนั้น คำว่ารักษาการตามพระราชบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง เพื่อควบคุม ดูแล และบังคับให้การเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับ พระราชบัญญัติทุกฉบับจึงต้องมีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ ประโยชน์ของการกำหนดผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งการกำหนดผู้รักษาการตามกฎหมายมีประโยชน์ ดังนี้

(1) ทำให้มีรัฐมนตรีเจ้าของเรื่องแน่นอน

(2) ทำให้สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยในชั้นพิจารณาร่างกฎหมายได้ ว่าสมควรจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดดูแลให้การเป็นไปตามกฎหมายนั้น ๆ

(3) ทำให้สภาผู้แทนราษฎรอยู่ในฐานะที่จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินตามวิถีทาง ในรัฐธรรมนูญได้สะดวกยิ่งขึ้น เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัติผิดพลาดขาดตกบกพร่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีผู้รักษาการนั้นได้

(4) ทำให้ราษฎรสามารถติดต่อกับหน่วยงานของทางราชการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ๆ ได้ถูกต้อง เพราะจะรู้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รับผิดชอบ

ผู้รักษาการตามกฎหมายจึงมีอำนาจหน้าที่ในการ สั่งการและควบคุมให้มีการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีการตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายใด (สถาบันพระปกเกล้า, ออนไลน์) 

จากการอธิบายเกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมาย สรุปได้ว่า ผู้รักษาการตามกฎหมายเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น 

กรณีผู้รักษาการตามระเบียบสหกรณ์ จึงต้องเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบนั้น โดยผู้รักษาการตามระเบียบสหกรณ์ หมายถึงใคร มีข้อพิจารณาตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1. สหกรณ์มีสถานะเป็นนิติบุคคล (ตามกฎหมายสหกรณ์) และต้องมีผู้แทนนิติบุคคล

ให้สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 37) ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก... (มาตรา 50) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ (มาตรา 51)

2. สหกรณ์ต้องกำหนดข้อบังคับสหกรณ์

ผู้ซึ่งประสงค์จะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ที่จะขอจัดตั้งขึ้นต้องประชุมกันเพื่อ คัดเลือกผู้ที่มาประชุมให้เป็นคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์จำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน เพื่อดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์ โดยให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ดำเนินการ ร่างข้อบังคับภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 43 และเสนอให้ที่ประชุมผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกพิจารณากำหนดเป็นข้อบังคับของสหกรณ์ ที่จะจัดตั้งขึ้น (มาตรา 34 (4)) โดยข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการที่กำหนดไว้ตามมาตรา 43 

ซึ่งตามข้อบังคับของสหกรณ์กำหนดให้ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ซึ่งในข้อที่เกี่ยวกับระเบียบของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับ และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของสหกรณ์ เว้นแต่ระเบียบที่กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการตามมาตรา 46 (5) (8) ระเบียบของสหกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อน ทั้งนี้ข้อบังคับสหกรณ์ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการแต่ละตำแหน่ง โดยกำหนดให้ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์

 

เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงสรุปได้ว่า ผู้รักษาการตามระเบียบสหกรณ์ ควรกำหนดให้เป็นประธานกรรมการ ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงที่ได้อธิบายไว้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...