วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

 ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อสถาบันการเงินรูปแบบสหกรณ์มั่นคงอย่างยั่งยืน 

ผมสั่งซื้อหนังสือ Financial Crisis ตรวจจับข้อผิดพลาดทางการเงิน ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ตั้งใจว่าจะเอาไว้อ่านตอนอายุ 60 แต่มีแรงจูงใจพิเศษจึงหยิบมาอ่านซะหน่อย

ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวเกริ่นไว้ในคำนำได้อย่างน่าสนใจโดยสังเขปว่า บริษัทที่ยื่นขอเลิกกิจการ ร้อยละ 20 มาจากปัจจัยภายนอกที่อ้างถึงสาเหตุทางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ร้อยละ 80 ที่เลิกกิจการไม่ได้แจ้งสาเหตุ ซึ่งคาดเดาเอาว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยภายในที่น่าจะบริหารจัดการได้ง่ายกว่าปัจจัยเสี่ยงภายนอก แต่กลับเป็นสาเหตุหลักของความล้มเหลวของธุรกิจ ปัญหาหรือวิกฤตทางการเงินของธุรกิจทั้งหมด ล้วนแต่เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม หรือดําเนินกลยุทธ์ไม่เหมาะสม หรือเป็นผลพวงมาจากการที่ผู้บริหารมีพฤติกรรมในการดําเนินธุรกิจที่ไม่เหมาะสมเอง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรจัดการกับกิจกรรมในภาวะปกติเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กิจการ และกําหนดนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละด้าน

เมื่ออ่านคำนำส่วนนี้จบผมนึกถึงเหตุการณ์ช่วงปี 2540 ที่เรียกว่า The Tum Yum Kung Crisis ส่วนหนึ่งของวงศาวิทยาว่าด้วยวิกฤติทางการเงินครั้งนั้น ผมจำได้ว่ามีธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งล่มสลาย สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ของผู้บริหารธนาคารแห่งนั้น และลุกลามสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติการเงินครั้งนั้น

หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงของระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อป้องกันและลดโอกาสของความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินทั้งระบบมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk)

สถาบันการเงินทั้งระบบที่ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงตามแนวทางดังกล่าว คงต้องนับรวมสหกรณ์ออมทรัพย์ (ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2526) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2550) และสหกรณ์ประเภทอื่น ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมเงิน การรับฝากเงิน และการลงทุนทางการเงิน ตามมาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไข

ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ที่กำลังทยอยประกาศใช้ ผมมองว่าเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินในระบบสหกรณ์ เพื่อป้องกันและลดโอกาสของความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางการเงินของระบบสหกรณ์ สหกรณ์มั่นคง สมาชิกก็อุ่นใจ สังคมไทยโดยรวมก็เข้มแข็ง เพราะสหกรณ์เกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งในมิติด้านจำนวนและมิติด้านความหลากหลาย

มีข่าวสหกรณ์ไม่กี่แห่งดำเนินงานล้มเหลว สังคมก็สั่นสะเทือน ผมว่าเราบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุกกันเสียแต่วันนี้ เพื่อความมั่นคงของระบบสหกรณ์ในวันนี้และวันข้างหน้า จะเกิดผลดีต่อขบวนการสหกรณ์และระบบเศรษฐกิจของชาติที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ที่กำลังประกาศใช้ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หนุนเสริมความเข้มแข็งทางการเงินของระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการป้องกันและลดโอกาสของความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินทั้งระบบของประเทศมั่นคงตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

คำนำของหนังสือ Financial Crisis ตรวจจับข้อผิดพลาดทางการเงิน ยังกล่าวอีกว่า วิกฤตทางการเงินเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่จะค่อย ๆ สําแดงเดชทีละเล็กละน้อย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีจิตใจเด็ดเดี่ยวยอมตัดเนื้อร้ายทิ้งไป เพื่อขจัด แก้ไขข้อผิดพลาด และตั้งต้นในสิ่งที่ถูกต้องได้ ทันท่วงที โดยไม่ลังเลหรือมองข้ามปัญหา จะทําให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตทางการเงินได้อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...