วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์

1. กรอบในการวิเคราะห์

1.1 วัตถุนิยมแบบประวัติศาสตร์ (Historical Materialism)

การวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ด้วยการมองประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม (The Materialist Conception of History) หรือวัตถุนิยมแบบประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) ของ Karl Mark ดังนี้

ในการผลิตของสังคมที่มนุษย์กระทำไปนั้น มนุษย์จะเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นอนซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นอิสระจากความปรารถนาของมนุษย์ ความสัมพันธ์ในการผลิต (Relations of Production) นี้จะสอดคล้องกับลำดับขั้นพัฒนาการเฉพาะของพลังการผลิตทางวัตถุ (Material Productive Forces) ความสัมพันธ์ในการผลิตทั้งหมดรวมกันเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ (Economic Structure) ของสังคม เป็นพื้นฐานที่แท้จริงซึ่งบนพื้นฐานนี้มีโครงสร้างส่วนบนด้านกฎหมายและการเมือง (Legal and Political Super-Structure) ผุดขึ้น และมีจิตสำนึกของสังคม (Social Consciousness) ในรูปแบบเฉพาะที่สอดคล้องกับโครงสร้างส่วนบน แบบการผลิต (Mode of Production) ของชีวิตวัตถุกำหนดกระบวนการทางสังคม การเมืองและปัญญาโดยทั่วไปของชีวิต ไม่ใช่จิตสำนึกของมนุษย์ที่กำหนดความเป็นอยู่ (Being) แต่ตรงข้ามความเป็นอยู่ในสังคม (Social Being) ของมนุษย์ต่างหากที่กำหนดจิตสำนึกของมนุษย์ ณ ลำดับขั้นหนึ่งของการพัฒนาของมนุษย์ พลังการผลิตทางวัตถุของสังคมจะขัดแย้งกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เป็นอยู่ หรือไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากที่เรียกสิ่งเดียวกันนี้ทางด้านกฎหมายว่า ขัดแย้งกับความสัมพันธ์ทางกรรมสิทธิ์ ซึ่งพลังการผลิตดำเนินงานอยู่ภายใต้มาก่อน จากรูปแบบการพัฒนาของพลังการผลิต ความสัมพันธ์ทางกรรมสิทธิก็กลายเป็นสิ่งขัดขวาง จากนั้นจะเกิดยุคการปฏิวัติทางสังคม (Social Revolution) ด้วยการเปลี่ยนแปลงฐานเศรษฐกิจโครงสร้างส่วนบนอันมหึมาทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากบ้างน้อยบ้าง (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2546 : หน้า 151-152)

ในการพิจารณาประวัติศาสตร์จะต้องแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ

          1. พลังการผลิต (Productive Forces) คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คือวิธีการที่มนุษย์ขัดแย้งเอาชนะธรรมชาติเรียกว่าวิธีการผลิตหรือเทคโนโลยี

          2. ความสัมพันธ์ในการผลิต (Relations of Production) คือโครงสร้างเศรษฐกิจหรือระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งกำหนดว่าใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตนี้จะกำหนดต่อไปว่า ใครจะได้ส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภค

          3. โครงสร้างส่วนบน (Superstructure) คือระบบกฎหมาย ระบบการเมือง วัฒนธรรม และระบบความคิด

ส่วนที่เป็นพื้นฐาน คือ พลังการผลิตและความสัมพันธ์ในการผลิตซึ่งรองรับโครงสร้างส่วนบน การมองประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมมุ่งสนใจส่วนที่เป็นพื้นฐานนี้ กล่าวคือ สนใจการผลิต และการทำมาหากินของมนุษย์ว่าเป็นรากฐานประวัติศาสตร์ เมื่อพลังการผลิตเปลี่ยน จะทำให้ความสัมพันธ์ในการผลิตและระบบกรรมสิทธิ์เปลี่ยน การขัดแย้งกับโครงสร้างส่วนบนซึ่งพยายามรักษาสถานะเดิมจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดการปฏิวัติสังคม และโครงสร้างส่วนบน จะต้องเปลี่ยนจนสอดคล้องกับพลังการผลิตและระบบกรรมสิทธิ์ (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2546 : หน้า 153)

ความผันแปรของสังคม ถูกกำหนดโดยการพัฒนาของรูปแบบการผลิตมาตรฐาน แห่งการพัฒนาของพลังการผลิตที่แตกต่างกัน กับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ต่างกันซึ่งเหมาะสมกับมันนั้นเป็นสิ่งกำหนดลักษณะโฉมหน้าของสังคมทั้งหลาย ระบบสังคม 5 ชนิด ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ ถูกกำหนดโดยรูปแบบการผลิตกรรมอันเป็นพื้นฐาน 5 ชนิดคือ

1) รูปแบบผลิตกรรมแห่งลัทธิสังคมคอมมิวนิสต์ยุคบุพกาล (Primitive Society) สังคมคอมมิวนิสต์ยุคบุพกาลคือระยะแรกแห่งวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ซึ่งมีรูปแบบผลิตกรรมต่อไปนี้เป็นรากฐาน

1.1) สภาพพัฒนาการของพลังการผลิต คือ จากการใช้เครื่องมือหยาบๆ ที่ทำด้วยหิน มาสู่การประดิษฐ์ธนู ศร เครื่องปั้นดินเผา จนเริ่มมีการประดิษฐ์เครื่องมือโลหะ ส่วนความก้าวหน้าทางเทคนิคในการใช้แรงงานก็เริ่มจากการเที่ยวเสาะหาปัจจัยเลี้ยงชีพอย่างง่ายๆ สู่การล่าสัตว์ จับปลา จนถึงสมัยต้นของการเพราะปลูก ระยะที่ผ่านมาตามลำดับนี้ พลังการผลิตมีการพัฒนาไปอย่างช้า ๆ อยู่ในมาตรฐานที่ต่ำมาก ผลผลิตที่ได้จากการทำงานคงเพียงพอแก่ความต้องการสำหรับบริโภคในชีวิตเท่านั้น แทบจะไม่มีผลผลิตส่วนเกิน

1.2) ลักษณะของความสัมพันธ์ทางการผลิต ในสังคมไม่มีการขูดรีดผลิตผลส่วนเกินระหว่างกลุ่มชน เนื่องจากไม่มีผลผลิตส่วนเกินให้ขูดรีด สมาชิกในสังคมมีการทำงานแบบรวมหมู่ ความสัมพันธ์ทางการผลิตในสมัยนี้จึงเป็นความสัมพันธ์แห่งระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งปราศจากการขูดรีด ปราศจากชนชั้นและปัจจัยการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนกลางของมวลสมาชิกในสังคม

ในสังคมระบอบคอมมิวนิสต์ยุคบุพกาลทั้งพลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิตต่างก็เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างเชื่องช้า

มูลเหตุแห่งการกำเนิดระบบทรัพย์สินส่วนเอกชน เริ่มจากการที่บุคคลของสังคมได้ผลิตเครื่องมือในการผลิตที่มาจากความชำนาญของตนเองและเป็นสมบัติคู่ชีวิตของบุคคลนั้นไปตลอด เช่น เครื่องมือจับปลา เครื่องมือล่าสัตว์ เป็นต้น จนกระทั่งบุคคลนั้นตาย เครื่องมือเหล่านั้นจงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวงศ์ตระกูล ต่อมามีการแบ่งงานกันทำครั้งใหญ่ของสังคมเป็นครั้งแรก คือการเลี้ยงสัตว์ กับการเพาะปลูก และตามมาด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างเผ่า

ในปลายสังคมบุพกาลมีการทำสงครามระหว่างหมู่ชน มีการเปลี่ยนแปลงจากการทำนารวมเป็นการทำนาขนาดย่อย เริ่มมีการแบ่งปันที่ดิน และถือกรรมสิทธิที่ดินกันในที่สุด

2) รูปแบบการผลิตแห่งระบอบการครองทาส (Slave Society)

          สังคมทาสเป็นสังคมชนชั้นที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติมนุษยชาติ มีรูปแบบการผลิตกรรมที่ก้าวหน้ากว่ารูปแบบผลิตกรรมของสังคมคอมมิวนิสต์บุพการ โดยอยู่บนพื้นฐานต่อไปนี้

                   2.1) ด้านพลังการผลิต มีการผลิตเครื่องมือโลหะ โดยเฉพาะเครื่องมือเหล็ก และความก้าวหน้าทางเทคนิคในการทำงานที่เหมาะสมกับเครื่องมือดังกล่าว มีการแบ่งงานทางสังคม ระหว่างกสิกรรมกับหัตถกรรมเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และการทำงานรวมหมู่ของทาส

                   2.2) ด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต เจ้าของทาสได้ยึดถือกรรมสิทธิ์ปัจจัยการผลิตทั้งหมดรวมทั้งร่างกายของทาสด้วย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งทรัพย์สินเอกชนโดยสมบูรณ์ การทำงานของทาสเป็นการทำงานโดยการถูกบังคับและขูดรีดโดยเจ้าของทาส

          ความเสื่อมและความพินาศของระบบทาส การขูดรีดอย่างทารุณ ของการใช้ทาสทำงาน ความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตกับความสัมพันธ์ทางการผลิต แสดงออกโดยการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างทาสกับเจ้าของทาส ทำให้เกิดการจลาจลจนต้องมีการล้มเลิกระบบทาสในที่สุด

3) รูปแบบการผลิตแห่งลัทธิศักดินา (Feudal Society)

3.1) สภาพการพัฒนาของพลังการผลิต มีเครื่องมือเหล็กที่ค่อนข้างก้าวหน้า การผลิตแบบเอกชนขนาดย่อม การกสิกรรมกับหัตถกรรมประสานกันในหน่วยครอบครัวทั้งหลายในชนบท เทคนิคในการกสิกรรม และหัตถกรรมก้าวหน้าและประณีตกว่าก่อนมาก

3.2) ลักษณะแห่งความสัมพันธ์ทางการผลิต ชนชั้นเจ้าของที่ดินศักดินาเป็นผู้ยึดครองปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ส่วนเครื่องมือทำงานเป็นสมบัติของคนทำงานทั้งหลาย ชนชั้นเจ้าของที่ดินบีบบังคับให้คนทำงานต้องเข้าสังกัดต่อชนชั้นเจ้าของที่ดิน ชนชั้นแรงงานต้องบรรณาการผลิตผลจากแรงงานส่วนเกินให้แก่ชนชั้นเจ้าของที่ดิน คนทำงานในสังคมศักดินา (ส่วนใหญ่เป็นชาวนา) แตกต่างกับพวกทาสตรงที่ร่างกายมิได้เป็นสมบัติของผู้ขูดรีด และมีเครื่องมือการผลิตเป็นของตนเอง แต่ระดับการขูดรีดนั้นไม่น้อยกว่าพวกทาสเท่าไรนัก

การต่อสู้ของชาวนากับการพังทลายของระบบศักดินา ความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตกับความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมศักดินาแสดงออกมาโดยการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินกับชาวนาและระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินกับประชาชน

4) รูปแบบการผลิตแห่งลัทธิทุนนิยม (Capitalist Society)

4.1) ทางด้านพลังการผลิต เป็นการผลิตรวมหมู่ขนาดใหญ่ ซึ่งเริ่มจากโรงงานหัตถกรรมสู่การอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรกล

4.2) ทางด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ปัจจัยการผลิตไว้ทั้งหมด ส่วนคนทำงานนอกจากจะมีแรงงานของตนแล้ว ปราศจากทุกสิ่งทุกอย่างคนทำงานจะดำเนินการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยเลี้ยงชีพ มีทางที่จะทำได้ทางเดียวคือ การขายแรงงานให้แก่นายทุน เข้าทำงานในโรงงาน ของนายทุนและยอมให้นายทุนขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากผลผลิตในการทำงานของตน

การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ และการพังทลายของระบอบทุนนิยม การแสดงออกที่สำคัญก็คือการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมมาชีพ

5) รูปแบบการผลิตแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communist Society)

5.1) ทางด้านพลังการผลิต มีอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่งคืออุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นรากฐาน วิถีดำเนินงานในการทำงาน วิถีดำเนินทางการผลิต ก็ล้วนเป็นไปอย่างแพร่หลายในลักษณะสาธารณะสังคม

5.2)  ทางด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต ปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ฯลฯ ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์สาธารณะของสังคมทั้งสิ้น เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการดำรงชีพ เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นที่จำเป็นแก่การครองชีพ ทุกอย่างเป็นสมบัติของตน แต่จะยึดครองกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตไม่ได้ จะมีได้ก็เพียงปัจจัยการผลิตที่ไม่สำคัญบางอย่าง เช่น สวนผักสวนครัว และเครื่องมือทำสวนชิ้นเล็ก ๆ ของชาวนารวมเท่านั้น ในสังคมระบบคอมมิวนิสต์นี้ เมื่อเอกชนไม่สามารถยึดครองปัจจัยการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ ดังนั้น ก็ไม่อาจจะมีบุคคลใดที่จะอาศัยอำนาจในการยึดครองปัจจัยการผลิตมาดำเนินการขูดรีดรงงานส่วนเกินของผู้อื่นได้

6) ระบบการผลิตแบบเอเซีย (Asiatic Mode of Production)

ระบบการผลิตที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศเอเชียส่วนใหญ่มีลักษณะจำเพาะในตัวของมันคือ มีทั้งที่คล้ายคลึงกับระบบศักดินายุโรปและที่ไม่เหมือนก็มีเช่นกัน ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะจัดให้อยู่ในขั้นใดโดยเฉพาะ

ลักษณะของระบบการผลิตแบบเอเซียตามทฤษฎีวิเคราะห์ของMark สรุปลักษณะสำคัญดังนี้

1) ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเหนือที่ดิน (Private Ownership)

2) จากเหตุผลในข้อแรกประชาคมแห่งหมู่บ้านต่าง ๆ ในสังคมเอเซียเหล่านี้ จึงสามารถรักษาความเป็นอยู่ดั้งเดิมและเอกภพของหมู่บ้านไว้ได้ (Essential Cohesive Force) แม้จะได้ประสบกับการรุกรานจากภายนอกก็ตาม

3) จากเหตุผลในข้อสองได้รับการสนับสนุนให้เหนียวแน่นขึ้น จากการที่การเกษตรและอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนถูกรวมกันอยู่ภายในหมู่บ้าน

4) ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ ความเจริญของเกษตรกรรมในภูมิภาคนี้ จึงจำเป็นต้องมีการชลประทานอย่างมหาศาลต้องใช้กำลังมนุษย์อย่างมาก และเป็นสิ่งจำเป็นก่อนหน้าที่จะเกิดความก้าวหน้าทางกสิกรรม โครงการขนาดใหญ่ด้านชลประทานจึงต้องมีอำนาจจากส่วนกลางเป็นผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด

5) จากเหตุผลในข้อสี่ รัฐจึงมีอำนาจเด็ดขาดและสามารถสะสมรวบรวมเอาผลผลิตส่วนเกิน (Surplus-Product) มาไว้ในกำมือ ซึ่งเป็นผลให้ชนชั้นในสังคมดังกล่าวที่มีบทบาทควบคุม และมีกรรมสิทธิเหนือผลิตผลส่วนเกิน กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเหนือสังคม (ดังนั้นจึงเรียกระบบการปกครองว่าเผด็จการภาคตะวันออก) ลักษณะเหตุผลภายในสังคมดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความมั่นคงแก่ความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานด้านการผลิต (Stability in basic production relations) ที่เรียกว่าระบบการผลิตแบบเอเชียตามทฤษฎีของ Mark (สุรพงษ์ ชัยนาม.  2517: หน้า 198)

1.2 การเปลี่ยนแปลงโลกของ Karl Mark

Mark ได้เขียนหนังสือ “ความอัตคัดของปรัชญา” เมื่อปี 1847 เพื่อวิพากษ์ทฤษฎีของ ปรูดอง อย่างถึงที่สุด และได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับสำนักสังคมนิยมชนชั้นนายทุนต่าง ๆ สร้างทฤษฎีละยุทธวิธี ลัทธิสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพที่ปฏิวัติ หรือลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือลัทธิ Mark ขึ้น ในปี 1845 Mark ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสขับออกจากปารีส ในฐานที่เป็นนักปฏิวัติที่เป็นภัย จึงต้องย้ายมาอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ในปี ค.ศ. 1847 Mark ได้เข้าร่วมองค์การโฆษณาลับที่มีชื่อว่า สันนิบาตชาวลัทธิคอมมิวนิสต์ เปิดประชุมในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนพฤษจิกายนปี ค.ศ. 1847 และได้มีบทบาทสำคัญในสมัชชาผู้แทนครั้งที่สองของสันนิบาตนี้ ทั้งได้รับมอบหมายจากสมัชชาครั้งนี้ให้ร่างแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ และสหพันธ์คอมมิวนิสต์ จัดพิมพ์แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Manifesto of the Communist Party) เมื่อ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 (บุญศักดิ์ แสงระวี. 2547: 5)

สาระสำคัญของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ มีเนื้อหาโดยรวมเกี่ยวกับการประกาศจุดยืนของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยการชี้แจงทรรศนะ วัตถุประสงค์ และความมุ่งหมายของตนอย่างเปิดเผยแก่คนทั่วโลก รวมถึงการปลุกเร้าความรู้สึกของมวลชนโดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพให้เห็นความขัดแย้งเหลื่อมล้ำระหว่าง นายทุนกับชนกรรมาชีพ ซึ่งในแถลงการณ์นี้มาร์กซได้อธิบายให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการขูดรีดแรงงานระหว่างชนชั้นผ่านแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ คือการพูดถึง พลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต ในอดีตและปัจจุบันว่ามีการขูดรีดแรงงานอย่างไรโดยเน้นหนักไปที่การโจมตีและต่อต้านอุดมการณ์ทุนนิยม ผ่านนายทุน และชนชั้นปกครอง

1.3 จุดเริ่มต้นของการสหกรณ์โลก

Robert Owen ผู้ถูกยกย่องให้เป็น The Father of English Socialism หรือ The Father of World Cooperative และขบวนการผู้ร่วมคิดร่วมสร้างแนวคิดการสหกรณ์ มีวิธีการพัฒนาการสหกรณ์ที่น่าสนใจยิ่งนัก ก่อนจะเกิด Rochdale Pioneers ในปี 1844 ยี่สิบปีก่อนหน้านั้นมีวิวัฒนาการวิธีการวางรากฐานความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์ผ่าน New Harmony community ในปี 1826 ผ่านบทความชื่อ The Crisis ในปี 1832 ผ่าน Co-operative Magazine ซึ่งเริ่มต้นมาจากชมรมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า A London Co-operative Society ในปี 1824 โดยกระบวนการพัฒนาแนวความคิดของท่าน Robert Owen

          Robert Owen เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ ท่านวางรากฐานด้านการสหกรณ์เพราะสาเหตุหลักจากการที่ชนชั้นกรรมาชีพ ณ ขณะนั้นถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน เพราะนายทุนใช้เครื่องจักรเครื่องกลมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ และต่อรองกับชนชั้นกรมมาชีพโดยการลดค่าจ้างแรงงาน Robert Owen จึงคิดค้นวิธีการสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชนชั้นกรรมมาชีพที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ได้รับแรงหนุนเสริมจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในปี 1760 (http://www.historyhome.co.uk/peel/economic/owencoop.htm)

1.4 ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของ Mark

Mark กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ว่า “จุดหมายปลายทางของหนังสือเล่มนี้ ก็คือต้องการเปิดเผยให้เห็นกฎการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของสังคมยุคปัจจุบัน คือสังคมทุนนิยม สังคมชนชั้นนายทุน” การค้นคว้าการกำเนิด การพัฒนา และการเสื่อมโทรมอย่างไรของความสัมพันธ์ทางการผลิตของสังคมที่แน่นอนหนึ่งในประวัติสาสตร์ ก็คือเนื้อหาของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของมาร์กซ (บุญศักดิ์ แสงระวี.  2547: หน้า 31)

ทฤษฎีมูลค่า ผลผลิตทุกชิ้นของแรงงานมนุษย์ตามปกติแล้วจะต้องมีประโยชน์ คือ จะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์คนนั้นได้ อาจกล่าวได้ว่า ผลผลิตจากแรงงานมนุษย์ทุกอย่างจะต้องมี มูลค่า (Value) ในการใช้ อย่างไรก็ตาม คำว่ามูลค่าในการใช้ ก็มีความหมาย 2 แบบ เราอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ของสินค้าหนึ่งและอาจจะพูดถึง มูลค่าในการใช้ ต่าง ๆ ได้อีกเมื่อเราหมายถึงสังคมหนึ่งๆที่มีการผลิต แต่มูลค่าการใช้ เท่านั้น นั่นคือในสังคมที่ผลิตผลผลิตขึ้นมาเพื่อบริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะบริโภคโดยผู้ผลิตเอง หรือโดยชนชั้นปกครองที่ได้ผลผลิตไปก็ตาม นอกจากผลผลิตจากแรงงานมนุษย์จะมีมูลค่าในการใช้แล้ว ก็ยังมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย แต่ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดสินค้าเพื่อขาย มากกว่าการบริโภคโดยตรงของผู้ผลิตหรือชนชั้นที่เหนือกว่า นั่นคือผลผลิตจำนวนมาก ๆ ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อการขายไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการผลิตมูลค่าในการใช้อย่างง่ายๆอีกต่อไป แต่จะต้องเรียกว่าการผลิต สินค้า ดังนั้น สินค้าคือผลผลิตที่สร้างขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาด ตรงข้ามกับการผลิตที่สร้างขึ้นเพื่อการบริโภคโดยตรง สินค้าทุกชนิดจะต้องมีทั้งมูลค่าในการใช้และมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (อำไพ รุ่งอรุณ. 2519: 6)

ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน ตราบใดที่ประสิทธิภาพของแรงงานยังอยู่เพียงระดับที่คนคนๆหนึ่งสามารถผลิตเพียงเพื่อเลี้ยงชีพของตนเอง การแบ่งงานกันทำในสังคมและความแตกต่างใด ๆ ในสังคมก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ มนุษย์ทุกคนต่างเป็นผู้ผลิตและมีระดับทางเศรษฐกิจอย่างเดียวกัน การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานขึ้นจากระดับต่ำสุดนั้น ทำให้เกิดส่วนเกินเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นทุกช่วง และเมื่อใดก็ตามที่มีผลผลิตส่วนเกินขึ้นมาก็หมายความว่ามนุษย์สามารถผลิตได้มากกว่าที่ตนจำเป็นต้องบริโภค และดังนั้นก็จำต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อต่อสู้กันว่า ส่วนเกินที่เกิดขึ้นนี้จะถูกแบ่งกันอย่างไร จากจุดนี้เอง ผลผลิตทั้งหมดของชุมชนหนึ่งๆ จึงไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อความจำเป็นในการอยู่รอดของผู้ผลิตอีกต่อไป ผลผลิตของแรงงานนี้บางส่วนอาจถูกใช้เพื่อคนบางกลุ่มของสังคมเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานเลี้ยงชีพตนเองอีก เมื่อใดก็ตามที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น คนบางกลุ่มของสังคมก็จะได้ขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง ซึ่งลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้ก็คือ ถูกปลดปล่อยจากการที่จำเป็นต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดของตน ซึ่งหลังจากนี้ แรงงานของผู้ผลิตทั้งหลายสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งใช้เพื่อผลิตสิ่งของบริโภคที่จำเป็นของผู้ผลิตเอง เรียกว่า “แรงงานอันจำเป็น” อีกส่วนหนึ่งผลิตสิ่งของให้ชนชั้นปกครอง ซึ่งเรียกว่า “แรงงานส่วนเกิน”ผลผลิตของการใช้แรงงานสองแบบที่แตกต่างกันนี้ก็เรียกแตกต่างกัน เมื่อผู้ผลิตใช้แรงงานที่จำเป็นก็หมายถึงเขากำลังผลิต “ผลผลิตที่จำเป็น” และเมื่อเขาใช้แรงงานส่วนเกิน ก็หมายถึงเขากำลังผลิต “ผลผลิตส่วนเกินของสังคม” ดังนั้น ผลผลิตส่วนเกินของสังคมก็เป็นส่วนของการผลิตในสังคมที่ผลิตโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงาน แต่ชนชั้นปกครองเป็นผู้ได้ผลผลิตไป โดยไม่จำเป็นต้องแยกว่าเป็นผลผลิตโดยตรง หรือสินค้าที่นำไปขาย หรือตัวเงิน มูลค่าส่วน อธิบายง่ายๆก็คือผลผลิตส่วนเกินในรูปตัวเงินนั่นเอง เมื่อชนชั้นปกครองใช้อำนาจให้ต้องส่ง “ผลผลิตส่วนเกิน” เป็นตัวเงิน เราก็เพียงแต่เปลี่ยนคำว่า เขาได้รับ “มูลค่าส่วนเกิน” (Surplus Value) แทน “ผลผลิตส่วนเกิน” (Surplus Product) (อำไพ รุ่งอรุณ. 2519: 5)

1.5 องค์กรไม่แสวงหากำไร

          นัฏวรรณ รุจิณรงค์ และประพิน นุชเปี่ยม (2562) สรุปเกี่ยวกับความหมายขององค์กรไม่แสวงหากำไร (non-profit organization) ว่าเป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นของตนเองเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาสโดยไม่ได้แสวงหาผลกำไรจากกิจการที่ทำและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลชองรัฐบาล

          องค์การไม่แสวงหาผลกำไร (อังกฤษ: nonprofit organisation หรือย่อว่า NPO) เป็นชื่อเรียกองค์การที่มีจุดมุ่งหมายสนับสนุนกลุ่มที่มีความคิดเห็นพ้องกัน โดยเนื้อหาจะแตกต่างตั้งแต่ ศิลปะ การกุศล การศึกษา การเมือง ศาสนา งานวิจัย และจุดมุ่งหมายในด้านอื่น ๆ โดยการทำงานทั้งหมดไม่มีจุดประสงค์ในเชิงพาณิชย์ ไม่หาผลประโยชน์เข้าสู่องค์การ แต่มีรายได้จากค่าลงทะเบียน ค่าบำรุงจากสมาชิก หรือเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้มาจากการบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

          องค์การไม่แสวงหากำไร (Nonprofit Organization หรือย่อว่า NPO) เป็นหน่วยงานเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์และสาธารณะกุศลหรือเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกในองค์การ มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหารายได้ในเชิงพาณิชย์ มีการบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นผู้กำกับนโยบายและรับผิดชอบบริหารงบประมาณโดยมิได้หวังผลกำไรตอบแทนหรือนำผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน (กรมการปกครอง, 2562)

          องค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร หมายถึง องค์การสังคมสงเคราะห์ของเอกชน มูลนิธิ สมาคมและองค์การ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ และสมาคมการกุศล ได้แก่ สมาคมวาย เอ็ม ซี เอ สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง สโมสรไลออนซ์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นต้น (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562)      

1.6 อุดมการณ์ หลักการ วิธีการ และคุณค่าสหกรณ์

          สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์ มีความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม โดยยึดแนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผล เป็นรูปธรรม

          หลักการสหกรณ์

          หลักการที่ 1 การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง

          หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย

          หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก

          หลักการที่ 4 การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ

          หลักการที่ 5 การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ

          หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์

          หลักการที่ 7 การเอื้ออาทรต่อชุมชน

1.7 ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์

          1.7.1 ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ในอุดมคติ เป็นรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมที่มารวมตัวกันเป็นองค์กรธุรกิจ ผู้คนในสังคมที่มารวมตัวกันเป็นสหกรณ์นั้นเป็นผู้ที่มีปัญหา มีความต้องการ คล้ายกัน มีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับการพึ่งพาช่วยเหลือตนเองและระหว่างกัน มุ่งใช้การสหกรณ์ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคม ให้ความสำคัญของพลังการรวมคนมากกว่าพลังการรวมเงินหรือทรัพย์สิน เน้นการดำเนินธุรกิจระหว่างกันเองของสมาชิก กำไรส่วนเกินที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจใช้แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมตามสัดส่วนที่สมาชิกแต่ละคนดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้แก่สมาชิก และสังคมภายนอก

          ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ในอุดมคติ มีแนวทางชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินที่มาจากการสร้างกำไรจากการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านแรงงาน ด้านการแย่งชิงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ตลอดจนด้านการขายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์มุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

          นอกจากสหกรณ์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการสะสมกำไรส่วนเกินดังกล่าวแล้ว ยังหนุนเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกในด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต กล่าวคือปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ฯลฯ ของบรรดาสมาชิก ยังคงเป็นกรรมสิทธิของสมาชิก ขณะเดียวกันปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น เครื่องจักร ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ของสหกรณ์ก็นับว่าเป็นของสมาชิก โดยสมาชิกทั้งหมดร่วมกันเป็นเจ้าของ สมาชิกทั้งหมดมีอำนาจในการบริหารจัดการบรรดาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนบริหารกำไรส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ชัดเจน

          เป็นที่แน่ชัดว่าสหกรณ์นั้นเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพราะกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจเกิดจากการร่วมกันดำเนินธุรกิจระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง เป็นกำไรที่ไม่ได้มุ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับสหกรณ์หรือบรรดาสมาชิก เมื่อการร่วมดำเนินธุรกิจระหว่างกันเองเกิดกำไรส่วนเกินขึ้น กำไรเหล่านั้นจึงใช้ไปเพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ตนเองโดยจัดสรรเป็นเงินทุนสำรอง และจัดสรรตามกฎหมาย ส่วนที่เหลือก็จัดสรรในรูปของเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินโบนัสกรรมการและเจ้าหน้าที่ และจัดสรรเป็นทุนอื่น ๆ เพื่อการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก เพื่อการศึกษาอบรมทางการสหกรณ์ และเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ การดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์จึงเป็นไปตามความเชื่อพื้นฐานที่ว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

หลักการที่ 3 เรื่องการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสมาชิกที่ดำเนินการร่วมกันนั้นเกิดผลกำไรส่วนเกินขึ้น เพียงแต่กำไรส่วนเกินดังกล่าวนั้น ไม่ได้มาจากการขูดรีด และไม่ได้มีไว้เพื่อความมั่งคั่ง

          1.7.2 ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ในปัจจุบัน บางส่วนถูกมองว่าเอนเอียงไปทางฝั่งของอุดมการณ์แบบทุนนิยม (Capitalism) ด้วยปัจจัยที่สำคัญเพียง 3 ประการ ได้แก่ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยด้านการดำเนินธุรกิจกับสมาชิก และปัจจัยด้านการปันส่วนผลประโยชน์ตอบแทนเมื่อกิจการมีกำไร

          ปัจจัยแรก ดอกเบี้ยในระบบสหกรณ์ สามารถจำแนกได้ดังนี้

          1. ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่คิดจากสมาชิกหรือสหกรณ์ผู้กู้

          2. ดอกเบี้ยเงินรับฝาก ที่คิดให้สมาชิกหรือสหกรณ์ผู้ฝาก หรืออื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

          3. สิ่งที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่มีลักษณะคล้ายการคิดดอกเบี้ย ได้แก่ ค่าปรับ ซึ่งคิดจากการผิดนัดชำระหนี้

          ปัจจัยที่สอง วัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการที่กำหนดในข้อบังคับสหกรณ์ส่วนใหญ่ให้อำนาจในการดำเนินธุรกิจร่วมกับสมาชิก เพราะสหกรณ์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่สหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจกับบุคคลภายนอกได้ตามที่กฎหมายอนุญาตไว้

          ปัจจัยที่สาม การปันส่วนผลประโยชน์ตอบแทนเมื่อกิจการมีกำไร ได้แก่

          1. เงินปันผล สำหรับสมาชิกผู้ถือหุ้น

          2. เงินเฉลี่ยคืน สำหรับสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์

          3. เงินโบนัส สำหรับคณะกรรมการ (ไม่ได้รับเงินเดือนในการบริหารงาน) และสำหรับเจ้าหน้าที่สหกรณ์

          จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมันจะสะท้อนว่าสหกรณ์เอนเอียงไปทางทุนนิยมหรือไม่ก็ต่อเมื่อ

1. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่สะท้อนสภาวะทางด้านเศรษฐกิจของสังคมโดยรวม และไม่เป็นไปตามหลักการบริหารทางด้านการเงินที่ดี ตลอดจนดำเนินธุรกิจในลักษณะใช้เงินทำงานสร้างผลกำไร ไม่ได้ใช้เงินทำงานเพื่อช่วยเหลือสมาชิก

2. เน้นดำเนินธุรกิจกับบุคคลภายนอกมากว่าดำเนินธุรกิจกับสมาชิกด้วยกันเอง พยายามหาช่องทางช่องว่างในการแสวงหากำไร โดยเสี่ยงต่อการขาดทุนและเสี่ยงต่อการเกิดข้อบกพร่อง

3. มุ่งผลกำไรมากเกินขอบเขตของความเชื่อพื้นฐานที่ว่า การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

กรมการปกครอง. 2562. องค์กรไม่แสวงหากำไร (NPO) กับการยกเว้นภาษี, ออนไลน์ https://multi.dopa.go.th/omd2/news/cate1/view17

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.  2546.  ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นัฏวรรณ รุจิณรงค์ และประพิน นุชเปี่ยม.  2562. ปัญหาทางกฎหมายต่อการบริหารจัดการของมูลนิธิในประเทศไทย, วารสารการบริหารการปกครอง ปีที่ 8 ฉบับที่ 2

บุญศักดิ์ แสงระวี.  2547.  ลัทธิสังคมนิยม 4 ยุค, กรุงเทพฯ : บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีองค์การไม่แสวงหาผลกำไร, ออนไลน์, https://th.wikipedia.org/wiki/องค์การไม่แสวงหาผลกำไร

สุรพงษ์ ชัยนาม.  2517.  มากซ์และสังคมนิยม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2562. สำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2540, ออนไลน์, http://statstd.nso.go.th/definition/projectdetail.aspx?periodId=88&defprodefId=1155

อำไพ รุ่งอรุณ.  2519.  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเฌศ.

Robert Owen and the Co-operative movement, ออนไลน์ , http://www.historyhome.co.uk/peel/economic/owencoop.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...