วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ปัญหาภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง (Climate Change)

เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2563 ผมเขียนบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับ วันสหกรณ์สากล ตอนหนึ่งผมเขียนถึงประเด็นท้าทายในปัจจุบันที่ขบวนการสหกรณ์โลกให้ความสำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติ (United nations) สรุปและเชิญชวนว่า “Let's cooperate and invite everyone to fight for climate action” ให้ขบวนการสหกรณ์โลกและผู้คนบนโลกนี้ร่วมกันต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (Climate Changed)”

ความตั้งใจจริงในการเขียนครั้งนั้นก็เพื่อให้ผู้คนในขบวนการสหกรณ์ไม่ลืมวันสำคัญของขบวนการสหกรณ์โลก

ปัจจุบันความคิดวน ๆ เวียน ๆ อยู่กับเรื่องหนี้สินภาคการเกษตร เพราะมีคนมาให้ช่วยคิดเรื่องนี้บ่อย ๆ คิดเรื่องมาตรการแก้หนี้ หาวิธีวิธีมาบรรเทาแก้ไข คิดแล้วคิดอีก แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ยังหาแนวทางแก้อย่างยั่งยืนไม่เจอ

คิดไปคิดมาก็นึกถึงคำพูดของลุงท่านหนึ่ง เมื่อคราวเราประชุมหารือกัน ประเด็นการสนทนาก็ปรับทุกข์สุขกันเรื่องหนี้สิน และตัวร้ายของเรื่องหนี้สินก็คือ ภัยแล้งคุณลุงพูดได้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เรามันไม่เข้าใจกันเอง ทำการเกษตรฝืนธรรมชาติมันก็มีแต่เจ๊ง ต้องปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปแล้ว...

ความคิดและคำพูดของคุณลุงช่างทันสมัย และล้ำลึก จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากเราไม่พิจารณากันที่ต้นเหตุของปัญหาหนี้สิน ก็คงต้องแก้หนี้กันไปไม่รู้จบ

ใครจะไปคิดว่าเอาเข้าจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศโลกมีผลต่อปัญหาหนี้สินภาคเกษตรเด่นชัดขึ้นมาทุกขณะ หากยังเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศโลก บางทีอาจสายเกินไป

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เป็นภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ฤดูกาลต่าง ๆ คลาดเคลื่อน เปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะปกติธรรมดา ส่งผลโดยตรงต่อการวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นทั้งพืชและสัตว์

ขณะที่สังคมโลกให้ความสำคัญต่อการเอาชนะความอดอยากหิวโหย เอาชนะความยากจน ลดทอนความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม แต่การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกกลับยิ่งส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวหนักหนายิ่งกว่าเดิม

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลส่งผลให้วิถีการผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มีความเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น สังคมโลกเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร การแก่งแย่งแข่งขันกันครอบครองทรัพยากรทวีความรุนแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมยังดำรงอยู่

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ส่งผลให้พืชและสัตว์บางชนิด ต้องสูญพันธุ์หรือกลายพันธุ์ ส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศทั่วโลก ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง โลกต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง อาทิ ไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาหมอกควันพิษ น้ำท่วมใหญ่ อากาศที่หนาวจัด ร้อนจัด ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ภัยธรรมชาติต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสร้างความยากลำบากให้แก่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกจึงเป็น ฤดูมหาพิบัติภัยที่คุกคามทุกชีวิตบนโลก

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก อาจเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหรือเป็นภาวะการณ์ที่มนุษย์มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น มนุษย์คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเอาชนะธรรมชาติ ตอบสนองความต้องการด้านการบริโภค ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความสะดวกสบาย และความมั่งคั่งทางเศรษฐศาสตร์ จนละเลยเรื่องความสมดุล ความผาสุกของสังคมที่อยู่บนพื้นฐานความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ระบบภูมิอากาศของโลกจะกลับสู่ภาวะสมดุล สรรพชีวิตจะได้รับการฟื้นฟู ก็ด้วยสองมือของแต่ละคนช่วยกันสร้างโลกที่ดีขึ้น การรับรู้เข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับสาเหตุ ปัญหา ผลทางตรง และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก

เชื่อมั่นและปฏิบัติการพัฒนาที่ยั่งยืน เปลี่ยนเป้าหมายการใช้ชีวิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเป็นไปเพื่อความพอเพียง สมดุล ลดการแข่งขัน เพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน สร้างเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน กระจายความกินดีอยู่ดี ไปสู่ทุกชุนชน และทุกสังคมบนโลก ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูโลก ช่วยกันสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ ไม่ทำลาย เพื่อฤดูกาลปกติของโลกกลับคืนสู่ทุกชีวิต

#วิถีสหกรณ์-วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน-ฟื้นโลกฟื้นเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...