วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ลักษณะที่เป็นพิเศษของกฎหมายสหกรณ์

หนังสือ คำอธิบายพระราชบัญญัติสหกรณ์และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2542 (กฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)ของ ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2555

ตอนหนึ่งของหนังสือได้อธิบายเกี่ยวกับ ลักษณะที่เป็นพิเศษของกฎหมายสหกรณ์ไว้ดังนี้

กฎหมายสหกรณ์มีลักษณะที่เป็นพิเศษทั้งในความคิดและการใช้ที่แตกต่างกับกฎหมาย ทั่วไป เพราะกฎหมายสหกรณ์มีลักษณะผสมผสานทั้งในส่วนของความเป็นกฎหมายมหาชน ในสาขากฎหมายปกครองและเป็นกฎหมายเอกชนในลักษณะกฎหมายธุรกิจตามลักษณะที่สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจในภาคเอกชนด้วย

ในความเป็นกฎหมายมหาชน ในสาขากฎหมายปกครอง เพราะได้มีการกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐกับองค์กรสหกรณ์ต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ตลอดจนสมาชิกของสหกรณ์ ในลักษณะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครอง ซึ่งได้แก่อํานาจของนายทะเบียนสหกรณ์ คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ และผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ที่อยู่ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครอง คําสั่งของคณะบุคคลและบุคคลดังกล่าวที่สั่งตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายสหกรณ์ได้ให้อํานาจไว้ จึงมีลักษณะเป็นคําสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง ฉะนั้นถ้าปรากฏว่าคําวินิจฉัยหรือคําสั่งนั้นเข้าข่ายไม่ชอบด้วย กฎหมาย ไม่มีอํานาจ นอกเหนืออํานาจหน้าที่ ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน ไม่สุจริต มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จําเป็น ผู้ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อน อันเนื่องมาจากการกระทํา หรือคําสั่งดังกล่าวอาจฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครองได้

มีข้อสังเกตว่าอํานาจรัฐในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับสหกรณ์จะต้องเป็นไปในลักษณะที่เป็นการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องกระทําอันมิใช่มีลักษณะเป็นการควบคุม กํากับ ในลักษณะที่เป็นการบังคับ เพราะการดําเนินงานของสหกรณ์โดยแท้จริง จะต้องมาจากการริเริ่ม ตามความต้องการของบรรดามวลสมาชิกทั้งหลายของสหกรณ์ แล้วจึงนําความต้องการนั้น ไปดําเนินการตามเจตนารมณ์ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ในส่วนที่กฎหมายสหกรณ์ มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน ในสาขากฎหมายธุรกิจ เพราะสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจ ในภาคเอกชน โดยมีคณะบุคคลที่มีแนวความคิดหรือเจตจํานง ร่วมกันที่จะดําเนินกิจการ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และสังคมในการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันเป็นแก่นปรัชญาของระบบสหกรณ์ในลักษณะนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายสหกรณ์ในหลายลักษณะหลายส่วนได้กําหนดเกี่ยวกับการดําเนินกิจการของสหกรณ์ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน และในฐานะที่เท่าเทียมกันตามหลักของกฎหมายเอกชน ซึ่งได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลธรรมดา ซึ่งได้แก่สมาชิกสหกรณ์หรือนิติบุคคล ซึ่งได้แก่สหกรณ์ในการทํานิติกรรมสัญญา ระหว่างกันเอง หรือไปผูกพันบุคคลภายนอก เมื่อกฎหมายสหกรณ์มีลักษณะพิเศษที่เป็นทั้งกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนดังกล่าวแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายสหกรณ์ ก็จะต้องมีความคิด หรือเปลี่ยนความคิดในการใช้กฎหมายสหกรณ์ในส่วนนั้น ๆ ให้ตรงกับลักษณะของกฎหมายสหกรณ์ในส่วนนั้น ๆ ด้วย เพื่อจะได้ใช้กฎหมายสหกรณ์ให้ถูกต้อง โดยจะต้องเริ่มต้นคิดและใช้ให้เป็นระบบ ดังนี้

ข้อหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องอะไร

ข้อสอง กฎหมายสหกรณ์ได้กําหนดหลักเกณฑ์ หรือองค์ประกอบ เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร

ข้อสาม หลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบนั้น มีความหมายอย่างไร

ข้อสี่ ข้อเท็จจริงเข้าหรือไม่กับหลักเกณฑ์ หรือองค์ประกอบและได้ผลอย่างไร

(ปรีชา สุวรรณทัต และทรงพล พนาวงศ์, 2555: 11-12)

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...