วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ในบริบทการพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาแนวคิดการพัฒนาถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แนวคิดการพัฒนามีบริบทและเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งในบริบทของโลก ประเทศ สังคม ชุมชน และผู้คน ซึ่งวิธีการพัฒนาในบริบทต่างๆ นั้น ถูกกำหนดมาจากกระบวนทัศน์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่กระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 คือกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม (Positivism) โดยเชื่อว่าความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ ความจริงคือสิ่งที่สามารถค้นหาได้ด้วยกระบวนการที่ใช้เหตุและผล (การพิสูจน์) เป็นเครื่องมือ การพัฒนาภายใต้กระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมมีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับอุดมการณ์แบบทุนนิยมเสรี (Capitalism) เช่น การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) เหตุผลของการปฏิวัติเขียวก็คือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการพิสูจน์ ทดลอง เพื่อให้การผลิตอาหารเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการของชาวโลก โดยตัวชี้วัดที่สำคัญของการปฏิวัติเขียวน่าจะเป็นจำนวนผู้หิวโหยที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงบนโลกใบนี้ แต่กลับเป็นตัวชี้วัดที่กล่าวถึงปริมาณการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของประเทศที่ใช้แนวทางการพัฒนาแบบปฏิวัติเขียวที่ได้รับความสนใจมากกว่า 

แม้กระบวนทัศน์แบบปฎิฐานนิยมและอุดมการณ์แบบทุนนิยมจะเคยถูกท้ายทายและถอดรื้ออย่างรุนแรงมาแล้วในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยกลุ่มนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เสนอกระบวนทัศน์เชิงตีความ (ผ่องพรรณ และ สุภาพ, 2553) และช่วงศตวรรษที่ 19 โดย Karl Marx ที่เสนออุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ผ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 (บุญศักดิ์, 2547) แต่กระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมและอุดมการณ์ทุนนิยมยังคงทำหน้าที่ครอบงำการพัฒนาในบริบทต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แม้จะมีเหตุการณ์ที่เป็นหลักฐานที่สำคัญว่ากระบวนทัศน์และอุดมการณ์ดังกล่าวได้มีส่วนในการทำให้ลดทอนเป้าหมายของตนเอง คือการด้อยพัฒนาในบริบทต่างๆ ของโลกที่มีผู้คนจำนวนมากถูกทำให้กลายเป็นผู้ด้อยพัฒนา โดยในรายงานการพัฒนาคน (Human Development Report) ปี 2553 ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP: United Nations Development Programme) ระบุว่า ในการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาคน (HDI: Human Development Index) จากจำนวน 169 ประเทศที่มีข้อมูลดังกล่าว ปรากฏว่ามีประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนาสูงมาก (HDI ระหว่าง 0.788-1) อยู่จำนวน 42 ประเทศ ประเทศที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาสูง (HDI ระหว่าง 0.677-0.784)จำนวน 43 ประเทศ ประเทศที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาปานกลาง (HDI ระหว่าง 0.488-0.669) จำนวน 42 ประเทศ และกลุ่มที่พัฒนาต่ำ (HDI ระหว่าง 0.140-0.470) จำนวน 42 ประเทศ (UNDP, 2010) จากรายงานดังกล่าวจะเห็นได้ว่ายังมีผู้คนจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกที่ถูกประเมินว่ามีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลางและต่ำ[1] 

            ปัจจุบันกระบวนทัศน์และอุดมการณ์กระแสหลักที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา ถูกท้าทายด้วยความคิดแบบถอดรื้อมากขึ้น แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับที่ต่อสู้กันได้อย่างเท่าเทียม แต่ก็หลุดพ้นจากกรอบของกระบวนทัศน์และอุดมการณ์ดังกล่าวได้ แม้จะเป็นเพียงแค่บริบทเล็กๆ อย่างชุมชน หรือ ผู้คนบางกลุ่มบางคน แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง การไม่ยอมจำนนต่อความรู้ ความจริงที่ถูกกำหนดโดยกระบวนทัศน์และอุดมการณ์ทุนนิยม ทำให้อำนาจ ความรู้ ความจริง ถูกเปลี่ยนมือกระบวนการที่มากกว่าการถอดรื้อ แต่คือการรื้อสร้างคือคำตอบของการพัฒนาหรือไม่ ไม่อาจสรุปได้ แต่สิ่งที่สรุปได้คือ อำนาจ ความรู้ ความจริง ถ้าไม่ได้มากจาการครอบงำ แต่ได้มาจาการสำรวจตัวเอง สร้างความรู้ให้ตนเอง และคืนอำนาจให้กับตนเองน่าจะเป็นคำตอบของการพัฒนาในยุคปัจจุบัน           

ในบริบทการพัฒนาของไทยมีการพูดถึงแนวคิดการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและที่ผ่านมาจำนวนมากทั้งในแวดวงนักวิชาการ นักพัฒนา และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา จนมีผู้เสนอแนวคิดการพัฒนาโดยเฉพาะการพัฒนาในบริบทของผู้คนและชุมชนที่ถูกกดทับจากแนวทางการพัฒนาของรัฐที่ผ่าน ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2546 บรรจง นะแส (ภูมินทร์, 2546) ได้นำเสนอความคิดผ่านหัวข้อปาฐกถา งานพัฒนาคือการปลดปล่อย เนื้อหาของการปาฐกถาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านักพัฒนาชุมชนชนบทไทยบางกลุ่มได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย เพื่อการหลุดพ้น และเสริมพลังให้ชุมชนสามารถพัฒนาไปในแนวทางที่พึ่งตนเองได้ หากถอดความคิดของกลุ่มนักพัฒนาดังกล่าวจะพบว่า การปลดปล่อย การหลุดพ้น และการเสริมพลังนั้น มีที่มาจากแนวทางการพัฒนาของรัฐไทยที่ยิ่งพัฒนา ยิ่งทำให้ผู้คนในชุมชนชนบทไทยได้รับผลจาการพัฒนาของรัฐในลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้าม คือรัฐพัฒนาแต่ผู้คนในชุมชนชนบทไทยจำนวนมากกับด้อยพัฒนา ซึ่งความด้อยพัฒนาดังกล่าวนักพัฒนากลุ่มที่นำเสนอแนวความคิดการพัฒนาคือการปลดปล่อยมองว่าเป็นผลมาจากการพัฒนาของรัฐนั่นเอง ซึ่งหากวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาชนบทของรัฐไทยไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลแบบเผด็จการ ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยเต็มใบ ต่างก็ใช้แนวคิด-ทฤษฎีที่อยู่ภายใต้กรอบกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมและอุดมการณ์แบบทุนนิยมเสรีแทบทั้งนั้น เช่น ทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory) และทฤษฎีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Theory) ซึ่งถือว่าทฤษฎีทั้งสองมีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของไทยมาอย่างเข้มข้นและยาวนาน 

            ถ้าหากแนวคิดการพัฒนาคือการปลดปล่อย เชื่อว่าหากมีการเสริมพลังให้ผู้คนในชนบทไทยหลุดพ้นจากการครอบงำจากแนวทางการพัฒนากระแสหลักที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันที่กดทับผู้คนในชุมชนชนบทไทยอยู่ นักพัฒนากลุ่มกระแสทางเลือกน่าจะมีฐานคิด แนวคิด-ทฤษฎีที่แตกต่างจากฐานคิด แนวคิด-ทฤษฎีของรัฐไทยอย่างแน่นอน ซึ่งหากมองย้อนกลับมาที่ตัวแนวคิด-ทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาชุมชนชนบทไทย ก็จะพบว่ามีแนวคิด-ทฤษฎีที่หลากหลาย ซึ่งนักพัฒนาบางส่วนได้รับแนวคิด-ทฤษฎีที่ย้อนแย้งกับแนวคิด-ทฤษฎีกระแสหลักมาจากนักคิดทางด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาทั้งจากภายในและนอกประเทศ ขณะที่แนวคิดและทฤษฎีอีกส่วนหนึ่งมาจากการถอดบทเรียนจนเป็นแนวคิด-ทฤษฎีของกลุ่มตนเอง 

            ในท่ามกลางความหลากหลายของแนวคิด-ทฤษฎีการพัฒนาชุมชนชนบทไทย คงไม่อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดอย่างไรจะสามารถช่วยเป็นกรอบในการปฏิบัติการพัฒนา ให้เป็นการพัฒนาที่ปลดปล่อยผู้คนจำนวนมากในชุมชนชนบทไทยที่ถูกกดทับด้วยแนวทางการพัฒนาของรัฐไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้นการพิจารณาแนวคิด-ทฤษฎีใหม่ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการทำงานพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย จึงเป็นหนทางที่นักพัฒนาฝ่ายทางเลือกจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้กันต่อไป ท่ามกลางการต่อสู้ทางแนวคิด-ทฤษฎี เพื่อผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ความรู้ ความจริงในสังคมปัจจุบัน ซึ่งงานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและนำเสนอแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Postmodern) และคาดหวังว่าแนวคิดดังกล่าวอาจจะเป็นทางเลือกให้นักพัฒนากลุ่มที่ทำงานพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย นำไปเป็นกรอบในการทำงานพัฒนา ตลอดจนผู้ที่สนใจศึกษาและวิจัย เพื่อให้เกิดการปลดปล่อยผู้คนในชุมชนชนบทไทยได้อย่างมีพลังมากขึ้น  

          แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นการบูรณาการจากทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Paradigm) ของสำนักคิด Frankfurt School โดยมี Jurgern Harbermas เป็นบุคลที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) โดยมี Michel Foucault เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสูงมากต่อการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว ซึ่งก่อนจะได้นำเสนอรายละเอียดของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ จะขอกล่าวถึงทฤษฎีวิพากษ์และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมพอสังเขปดังนี้ 

ทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) 

ทฤษฎีวิพากษ์มีกรอบความคิดที่ปฏิเสธกระบวนการค้นหาความจริงทางสังคมโดยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ แต่ให้ความสำคัญกับความหมายในภาษา อุดมการณ์ ของสังคม เชื่อว่าการแสวงหาความรู้มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับจิตสำนึกของประชาชนผู้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง เน้นการสร้างความรู้ด้วยการกระทำ โดยใช้ความเชื่อ และอคติเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากสำนักคิด Marxist (Marxist Theory) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวใช้วิธีค้นหาความจริงที่เรียกว่า วิภาษวิธี (Dialectic)” คือการอธิบายลักษณะความสัมพันธ์แบบกำหนดซึ่งกันและกัน (กาญจนา และ สมสุข, 2551) เป็นแนวคิดที่มีลักษณะร่วมกันกับแนวคิดเชิงตีความ (Interpretive Approach) กุญแจสำคัญของวิธีการแบบวิพากษ์คือการสร้างความรู้ด้วยการกระทำ ใช้ความเชื่อ และใช้อคติในการค้นหาความจริง เนื่องจากความจริงมีความซับซ้อน มีหลายชั้น (Multilayer) แต่ละชั้นของความเป็นจริงนั้นถูกอาบเคลือบไปด้วยสิ่งลวงตา (Illusion) มายาคติ (Myth) และความบิดเบือน (Distorted Thinking) (Neuman, 2006) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism Theory) 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมมีแนวคิดที่ปฏิเสธความรู้ ความจริงว่ามีหนึ่งเดียวตามกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม แต่เชื่อว่าความรู้ ความจริง มีอยู่ทั่วไป ไม่มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงตายตัว สิ่งสำคัญที่ควรศึกษาคือความหมายที่หาได้จากภาษา เป็นแนวคิดที่สนใจในเรื่องของอำนาจที่แฝงอยู่ในความรู้ ความจริงที่ถูกผลิตออกมาโดยผ่านสิ่งที่เรียกวาทกรรมในสังคม กีรติ บุญเจือ (2545) สรุปว่า แนวโน้มของปรัชญาแนวหลังสมัยใหม่นิยมที่สำคัญได้แก่ การล้มล้างสมัยใหม่นิยม การไม่เชื่อว่าวิธีค้นหาความจริงแบบวิทยาศาสตร์จะให้ความจริงที่เป็นวัตถุวิสัย ไม่เชื่อว่าระบบความคิดของมนุษย์จะมีได้ในระบบเครือข่ายเดียว ไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ก้าวหน้าเสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นจุดอ้างอิง มีแต่ความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา หลังสมัยใหม่นิยมเชื่อว่า ความจริงที่ควรสนใจคือความหมายที่หาได้ในภาษา เชื่อว่ามนุษย์ควรมีท่าทีร่วมมือกันกับทุกสิ่งมากกว่ามุ่งเอาชนะหรือครอบครอง เชื่อว่าเหตุผลเป็นเพียงศิลปะชวนเชื่อ เชื่อว่าเอกภพไม่ใช่จักรกลล้วนๆ แต่เป็นองคาพยพพิเศษที่มีการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าอารมณ์และความใฝ่ฝันเป็นความจริงที่มีค่าควรแก่การพิจารณาและศึกษา 

จุดร่วมจุดต่างระหว่างทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม 

จากการศึกษาเรื่องทฤษฎีวิพากษ์ และแนวคิดหลังสมัยนิยมที่ผ่านมาจะเห็นว่าทฤษฎีวิพากษ์ และแนวคิดแบบหลังสมัยนิยมมีฐานคิดทั้งในส่วนที่ร่วมกัน และแตกต่างกัน โดยเฉพาะฐานคิดต่อการมองโลก และการค้นหาความจริงในสังคม สิ่งที่คล้ายกันระหว่างทั้งสองแนวคิดคือการตั้งคำถามต่อฐานคิดทางวิทยาศาสตร์ และให้ความสำคัญกับความหมายในภาษา และมีเป้าหมายร่วมกันคือการยกชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่มีสิ่งที่แตกต่างกันคือ ทฤษฎีวิพากษ์เชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงหาได้ด้วยการปฏิบัติ มีเป้าหมายที่จะแสวงหาความจริงเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ต้องการให้ผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาได้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงและพิจารณาตัดสินว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกหรือปรับปรุงโลกในด้านใดได้บ้าง เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่ถูกกดขี่ในสังคม ขณะที่แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่นิยมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อสังคม แต่แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเน้นเปิดเผยเพื่อให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงสิ่งที่ผู้คนมองข้ามไป โดยเฉพาะเรื่องของวาทกรรม อำนาจ ความรู้ ความจริง ที่ทำหน้าที่กดทับ เบียดขับ กีดกัน ผู้คนในสังคมระหว่างกลุ่มชน หรือ ระหว่างชนชั้น โดยมีผลประโยชน์เป็นเป้าหมาย ซึ่งความเหมือน และแตกต่างกันระหว่างทฤษฎีวิพากษ์ และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม สามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1 

ตารางที่ 1  จุดร่วมและจุดต่างระหว่างทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม 

 

จุดร่วม

จุดต่าง

ทฤษฎีวิพากษ์

- ปฎิเสธกระบวนทัศน์แบบ

  ปฏิฐานนิยม

- ให้ความสำคัญกับความหมายในภาษา

- มีเป้าหมายเพื่อการยกชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน

- มีเป้าหมายที่จะแสวงหาความจริงเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

- มุ่งเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหา

- ให้ความสำคัญกับการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มาจากคุณค่าภายใน

- แสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม

- ไม่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา แต่เน้นความสำคัญของการเผยให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งมีความเท่าเทียมกัน

- เปิดเผยวาทกรรม อำนาจ ความรู้ ความจริง ให้ผู้คนที่ถูกกดทับ ปิดกั้น เพื่อให้ตระหนักรู้และแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเอง

  แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ 

          จากจุดร่วมและจุดต่างของทฤษฎีวิพากษ์และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมดังที่กล่าวมาพบว่าแนวคิดทั้งสองดังกล่าวน่าจะมีการบูรณาการกันได้ เพื่อเพิ่มพลังในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งก็ได้มีผู้เสนอแนวคิดที่เรียกว่าหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ไว้บ้างแล้ว และมีผู้ใช้แนวคิดดังกล่าวในงานศึกษาวิจัยบางส่วน ซึ่งตัวแนวคิดมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้ 

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาต่อจาก ทฤษฎีวิพากษ์ ลัทธิล่าอาณานิคม แนวคิดการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม หลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์สร้างช่องว่างที่สำคัญระหว่างปัจเจกกับสังคม สนใจในการตรวจสอบทางจริยธรรมต่อสภาวะเชิงวัตถุในสังคมโลกหลังสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ในการตรวจสอบจริยธรรมเหล่านั้นด้วย (Koscianski, 2003) 

ส่วน Gephart (2004) ได้สรุปไว้ว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ เป็นแนวคิดที่มองว่าความเป็นจริงถูกก่อรูปขึ้นมาจากค่านิยมและระบบสัญลักษณ์ การจะเข้าถึงความจริงได้จะต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของระบบการให้ความหมาย การโต้แย้ง และทำความเข้าใจกับความไม่เท่าเทียม โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดเผยระบบของผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ และเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงเพราะถูกกดทับอยู่ ด้วยการวิเคราะห์ระบบของสัญลักษณ์ ในบริบทต่าง ๆ 

ในปี 2010 Bernd, Neil และ Ibrahim ได้ร่วมกันเขียนบทความวิชาการเรื่อง “Combining Postmodernism and Critical Theory in the Study of IS in the Middle East -Some Methodological Considerations” ซึ่งบทความเชิงวิชาการนี้ทำการศึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการบูรณาการแนวคิดหลังสมัยนิยม และทฤษฎีวิพากษ์ ว่าจะสามารถสร้างระเบียบวิธีสำหรับงานวิจัยเชิงวิพากษ์ได้หรือไม่ โดยหลังจากที่พวกเขาได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “Development and Emancipation: The Information Society and Decision Support Systems in Local Authorities in Egypt” แล้ว พบว่าในการวิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ต้องใช้การวิเคราะห์หลายระดับ เช่น นโยบายระดับชาติ และนโยบายในระดับองค์กร พวกเขาพบว่าวิธีการวิเคราะห์ของ Habermas เหมาะสำหรับการวิเคราะห์ในระดับใหญ่ ส่วนวิธีการของ Foucault เหมาะสำหรับการวิเคราะห์ในระดับย่อย ซึ่งหากนำแนวคิดทั้งสองมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาก็น่าจะได้ผลการวิจัยที่สมบูรณ์มากขึ้น ในการนำแนวคิดทั้งสองมาบูรณาการและสร้างวิธีการวิจัยแบบหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้น พวกเขาพบว่าแนวคิดทั้งของ Habermas และ Foucault ต่างก็มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด โดยพวกเขามองว่าการวิจัยในแนวทางทั้งสองดังกล่าวนั้นมีจุดแข็งทางด้านแนวคิดทฤษฎี แต่มีข้อจำกัดทางด้านวิธีการ และการนำไปปฏิบัติจริง เช่น การเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นระบบ ไม่เป็นขั้นเป็นตอนเหมือนวิธีการของพวกปฏิฐานนิยม (Positivism) ซึ่งพวกเขาได้พยายามเสนอวิธีวิทยา (Methodological) ของการวิจัยแนวหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ โดยเสนอว่าการศึกษาต้องเน้นที่การถอดรื้อความรู้เก่า สร้างความรู้ใหม่  ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พบให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การบรรยาย 

โดยสรุปแล้วแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นแนวคิดที่มองความเป็นจริงว่าไม่ใช่สิ่งที่คงที่หรือมีอยู่แล้วอย่างกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม แต่มองว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น เป็นอัตวิสัยแปรผันไปตามสภาพการณ์และบริบทของแต่ละปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอาจส่องสะท้อนให้เห็นความจริงได้หลากหลายจากผู้คนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าถึงความจริงของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์จึงต้องใช้ระบบคุณค่า การตีความ การรับรู้ ความรู้สึก ประสบการณ์ของบุคคลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังและปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด วิเคราะห์ระบบคุณค่า สัญลักษณ์ต่างๆ การส่องสะท้อนตนเอง เมื่อเผยให้เห็นความเป็นจริงต่างๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งการบูรณาการทฤษฎีวิพากษ์กับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมให้กลายเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้นมีรายละเอียดในตารางที่ 2 

ตารางที่ 2 กระบวนทัศน์การแสวงหาความรู้ของทฤษฎีวิพากษ์ แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม และแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์         

 

ภววิทยา (Ontology)

ญาณวิทยา (Epistemology)

วิธีวิทยา (Methodology)

เป้าหมาย

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์

ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ก่อนแล้ว

อำนาจ ความรู้ ความจริง เป็นสิ่งกำหนดซึ่งกันและกันไม่แยกจากกัน ผู้แสวงหาความรู้ให้อำนาจแก่สิ่งที่ศึกษาในการสะท้อนความเป็นจริง โดยไม่แยกตัวเองออกจากบริบทและใช้ค่านิยมในการตัดสิน

ศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิดโดยการวิเคราะห์วาทกรรม ตีความภาษา สัญลักษณ์ การรับรู้ ความรู้สึกจากประสบการณ์ การลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาความจริง

เปิดเผยให้เห็นระบบของ อำนาจ ความรู้ ความจริง ที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง และความเท่าเทียม

แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม

ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ก่อนแล้ว

อำนาจ ความรู้ ความจริง เป็นสิ่งกำหนดซึ่งกันและกันไม่แยกจากกัน ผู้แสวงหาความรู้ให้อำนาจแก่สิ่งที่ศึกษาในการสะท้อนความเป็นจริง

ศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิดด้วยการวิเคราะห์วาทกรรม อุดมการณ์ อำนาจ ความรู้ ความจริง และผลประโยชน์

เปิดเผยให้เห็นระบบของ อำนาจ ความรู้ ความจริง ที่แตกต่างหลากหลาย

ทฤษฎีวิพากษ์

ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ก่อนแล้ว

ผู้แสวงหาความรู้ความจริงไม่แยกตัวเองออกจากบริบทและใช้ค่านิยมในการตัดสิน

การมีส่วนร่วมในการวิพากษ์ตนเองเพื่อสะท้อนปัญหา สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง และลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาความจริง

เสนอทางออกเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก สังคม ตนเอง ให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ ไม่เท่าเทียม


งานศึกษาวิจัยภายใต้กรอบแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ 

          จากการค้นคว้าผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และฐานข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ พบว่างานศึกษาวิจัยที่ใช้แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นกรอบในการศึกษายังมีค่อนข้างจำกัดจากการโดยเฉพาะในประเทศไทยพบว่ายังไม่มีใครใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นกรอบในการศึกษาเลย ส่วนในต่างประเทศพบว่ามีบทความที่กล่าวถึงแนวทางการนำแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ไปใช้ในการศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ ภายใต้บริบทของสังคมหลังยุคหลังสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการปลดปล่อย เสริมพลัง ให้กับกลุ่มคนที่ไร้สิทธิไร้เสียง ไร้อำนาจต่อรองทางสังคม ขณะที่งานศึกษาวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาพบว่ามีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้อยู่บ้าง แต่ยังพบจำนวนไม่มากนัก ซึ่งในบทความนี้ได้นำตัวอย่างงานศึกษาวิจัยที่พอจะค้นหาได้มานำเสนอเพื่อให้เห็นว่าการนำแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ไปใช้เป็นกรอบในการศึกษาวิจัยนั้นมีเป็นอย่างไร ในบริบทไหนบ้างดังนี้ 

Brayton (2008) ใช้แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ในการศึกษาเรื่อง “A critical Postmodern Response to Multiculturalism in Popular Culture” เขามีความสนใจในประเด็นเรื่องอุดมการณ์ของสังคมในยุคหลังการแบ่งแยกเชื้อชาติ และการแสดงออกทางภาษาของกลุ่มนิยมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และต่อการการแบ่งแยกเชื้อชาติ เขาทำการศึกษา 3 กรณี ได้แก่ กรณีแรกศึกษาเกี่ยวกับล้อเลียนเสียงในการเดี๋ยวไม่โครโฟนของ Dave Chappelle, Russell Peters, และ Margaret Cho  กรณีที่สองศึกษางานของ cyborgs ซึ่งเป็นเรื่องของหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ในภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นการเปรียบเทียบเชิงอุปลักษณ์ (Metaphor) เกี่ยวกับเชื้อชาติ ความขาว ความไร้มนุษยธรรม กรณีสุดท้ายเป็นเรื่องประชดการเมืองเกี่ยวกับอัตลักษณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัญลักษณ์นำโชค (Mascots) รอบๆ สนามกีฬา การศึกษาของเขาเผยให้เห็นเกี่ยวกับระบบของอัตลักษณ์และความเป็นตัวแทนของสื่อกระแสหลักในอเมริกาเหนือที่สะท้อนความคิดทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ และการศึกษาด้วยกรอบแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์น่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดความร่วมมือทางการเมืองเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ได้ 

Amoco (2007) ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง การปลดปล่อย การเมืองและจิตวิญญาณ กับแนวคิดสังคมสงเคราะห์แนวหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ ในงานที่ชื่อว่า “Critical Postmodern Social Work and Spirituality” โดยผู้ศึกษาต้องการเชื่อมต่อแนวคิดของ Kovel เรื่องการปลดปล่อยจิตวิญญาณกับแนวคิดสังคมสงเคราะห์แนวหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับความคิดเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณในกรอบแนวคิดสังคมสงเคราะห์แนวหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ โดยหวังว่างานศึกษาของเขาจะช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในแวดวงสังคมสงเคราะห์เชิงวิพากษ์ ผลการศึกษาของเขาแสดงให้เห็นว่าแนวคิดสังคมสงเคราะห์แนวหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์มีความสัมพันธ์กับแนวคิดจิตวิญาณ และช่วยสร้างพลังในการวิเคราะห์ได้มากขึ้น ช่วยให้นักคิด นักทฤษฎี ในแวดวงสังคมสงเคราะห์มีแนวทางในการศึกษามากขึ้น การวิเคราะห์ด้วยกรอบแนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้เห็นภาพที่เป็นองค์รวมมากขึ้น และนำไปสู่การปลดปล่อยได้ 

งานศึกษาเรื่อง “Spaces of Faith Activism in the Global North?: An Exploration of Religious Resistance to Current Notions of 'Progress' in the Case of KAIROS” ของ Donnelly (2008) เป็นงานศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์และแนวคิดสังคมเป็นผู้กำหนดสร้าง (Social Constructionism) โดยมีเป้าหมายเพื่อถอดรื้ออภิตำนานเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาที่งมงายในสังคมยุคหลังสมัยใหม่ โดยศึกษาจากประสบการณ์ของชุมชนและสมาชิกขององค์กร KAIROS (Canadian Ecumenical Justice Initiatives) ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเป็นพวกเคร่งศาสนา ผู้ศึกษาพบว่าการคงอยู่ของพวกเคร่งศาสนาในสังคมหลังสมัยใหม่เป็นเรื่องที่ถ้าทายมาก กลุ่มคนที่เคร่งศาสนามักจะถูกต่อต้านจากพวกนักเคลื่อนไหวต่างๆ การที่กลุ่มคนผู้เคร่งศาสนาสามารถสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้มีพื้นที่ของกลุ่มตนเอง ทำให้ผู้คนในสังคมและผู้คนทั่วโลกยอมรับนั้นก็ด้วยการนำหลักคำสอนในคัมภีร์แปลงเป็นการปฏิบัติ         

          ตัวอย่างสุดท้ายเป็นบทความวิชาการเรื่อง “Development and Emancipation: The Information Society and Decision Support Systems in Local Authorities in Egypt” ของ Bernd, Neil and Ibrahim (2010) ในงานวิจัยนี้พวกเขาไม่ได้ใช้คำว่า “Critical Postmodern” เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา แต่ใช้คำว่า “The combination of Habermasian and Foucauldian ideas” โดยใช้การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis) เป็นวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลในสองระดับคือ การวิเคราะห์วาทกรรมในระดับนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศอียิปต์ใช้แนวทางของ Habermas ส่วนการวิเคราะห์การตัดสินใจการนำนโยบายไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นใช้แนวทางของ Foucault ในการวิเคราะห์ โดยผลการศึกษาพบว่าวาทกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการปลดปล่อยนั้นไม่เป็นจริงทั้งในระดับนโยบายและการนำไปใช้ในระดับท้องถิ่น โดยในระดับนโยบายนั้นมีผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งนักการเมืองและสถาบันการศึกษาก็ไม่ได้สนับสนุนนโยบายอย่างจริงจัง ในส่วนของการนำนโยบายในระดับท้องถิ่นนั้นระบบวัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนเป็นตัวการสำคัญที่ไม่ยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ในชุมชน นอกเหนือจากข้อค้นพบจากการศึกษาแล้ว นักวิจัยกลุ่มนี้ยังค้นพบอีกว่าการนำแนวคิดของทั้ง Habermas และ Foucault มาใช้ในการวิจัยนี้ทำให้มีพลังในการวิเคราะห์มากขึ้น ช่วยขยายพื้นที่ (ระดับนโยบายของรัฐ และระดับท้องถิ่น) ในการวิเคราะห์ให้กว้างขึ้น 

เมื่อพิจารณากรณีศึกษาต่างๆ ที่ใช้แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์เป็นกรอบในการศึกษาวิจัย พบว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์มีพลังในการวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ทางความคิด สามารถชี้ให้เห็นประเด็นเกี่ยวกับระบบของอำนาจ ความรู้ ความจริง ที่แนวคิดอื่นๆ ไม่ค่อยจะกล่าวถึง และยังพอจะเห็นว่าแนวโน้มของการใช้แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์นั้นมักจะถูกใช้ไปในงานศึกษาวิจัยที่มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของความเท่าเทียม การเสริมพลังอำนาจให้กับผู้คนที่ถูกกดทับ ผู้คนที่อยู่ชายของระบบอำนาจ ความรู้ ความจริง และการปลดปล่อยผู้คนที่ถูกพันธนาการจากอภิตำนาน เรื่องเล่าต่างๆ อันเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมของกลุ่มคนที่แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ 

สรุป

          แม้ปัจจุบันนี้ผู้คนทั่วโลกและในประเทศไทยจะตื่นตัวกับการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการต่างๆ โดยพยายามสร้างอัตลักษณ์ (Identity) ของตนของกลุ่มขึ้นมา เพื่อสถาปนาอำนาจ ในการต่อสู้ ต่อรองกับอำนาจที่ใหญ่กว่ามีพลังในการปฏิบัติการมากกว่า เช่น การเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศ (Trans Gender) การเรียกร้องสิทธิในการเป็นพลเมืองไทยของคนไทยพลัดถิ่น การต่อสู้ของชาวบ้านที่มาบตาพุด การเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนของชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อนปากมูล รวมถึงการก่อตัวของกลุ่มเกษตรกรทางเลือกเป็นต้น แต่การต่อสู้ดังกล่าวยังมีพลังที่จำกัด ยากต่อการเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ต้องการ เนื่องจากความสลับซับซ้อนของอุดมการณ์กระแสหลักที่ได้สร้างวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมไว้อย่างแยบคาย รวมถึงการปฏิบัติการแทรกซึมทางวาทกรรท การจะปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของอุดมการณ์กระแสหลักได้จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบคิดที่มีพลังในการถอดรื้อ (Deconstructive) และสร้างใหม่ (Reconstruction) ด้วยการติดอาวุธทางความคิด และปฏิบัติการด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง ด้วยตนเอง 

หากแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมให้ความสำคัญต่อเรื่องของอำนาจ ความรู้ และความจริงอย่างเท่าเทียมกันของคนทุกๆ มุ่งเปิดเผยให้เห็นว่าระบบของอำนาจ ความรู้และความจริงนั้นมีความเป็นมาอย่างไร และสร้างผลอย่างไรต่อสังคม ขณะที่ทฤษฎีเชิงวิพากษ์เชื่อว่า อำนาจ ความรู้ และความจริงมีอยู่ทั่วไป และสามารถสร้างขึ้นมาได้ ด้วยการเรียนรู้ตนเอง และสร้างแนวทางปฏิบัติการของตนเอง หากบูรณาการความเชื่อของทั้งสองแนวคิดดังกล่าว จะพบว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนจำนวนมากบนโลกใบนี้และผู้คนในชุมชนชนบทไทยสามารถที่จะหลุดพ้นจากการกดทับ ปิดกั้นของขบวนการที่สร้างอภิตำนาน (Grand Narrative) เรื่องเล่าต่างๆ เพื่อสนองอำนาจของตนเอง และกดขี่ผู้อื่น โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนา หากการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 มีจุดหมายปลายทางที่การปลดปล่อยให้คนเล็กคนน้อยได้มีอำนาจในการพัฒนาตนเอง ที่เรียกว่าการพัฒนาคือการปลดปล่อย แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมเชิงวิพากษ์ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการใช้เป็นกรอบแนวคิดที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาเพื่อการปลดปล่อยอย่างแท้จริง 

เอกสารอ้างอิง 

กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน.  2551.  สายธารแห่งนักคิดทฤษฎี เศรษฐศาสตร์การเมือง กับสื่อสารศึกษา.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

กีรติ บุญเจือ.  2545.  ปรัชญาหลังนวยุค แนวคิดเพื่อการศึกษาแผนใหม่.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดวงกมล. 

บุญศักดิ์ แสงระวี.  2547.  ลัทธิสังคมนิยม 4 ยุคกรุงเทพมหานคร: บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด. 

ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล และ สุภาพ ฉัตราภรณ์.  2549.  การออกแบบการวิจัย.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 

ภูมินทร์ พงษ์ไกรกิตติ.  2546.  งานพัฒนาคือการปลดปล่อย.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง. 

Amico, D. Melissa.  2007.  Critical Postmodern Social Work & Spirituality.  Master of Social Work, RMIT University. 

Brayton, Sean.  2008.  A Critical Postmodern Response to Multiculturalism in Population Culture.  Doctor of Philosophy, The University of British Columbia. 

Donnelly, Gabrielle.  2008.  Spaces of Faith Activism in the Global North?: An Exploration of Religious Resistance to Current Notions of 'Progress' in the Case of KAIROS.  Master of Arts, Dalhousie University. 

Gephart, R. P. 2004.  Qualitative Research and the Academy of Management Journal.  Academy of Management Journal 47: 454-461. 

Koscianski, Leonard.  2003.  The Emergence of Critical Postmodern Art.  Journal of Critical Postmodern Organization Science 2: 76-82. 

Neuman, W. L.  2006.  Basics of Social Research: Qualitative and Quantitative Approaches.  2nd ed.  Boston: Allyn and Bacon. 

Stahl, Carsten, Bernd, McBride, Neil and Elbeltagi, Ibrahim.  2010.  Development and emancipation: The information society and decision support systems in local authorities in EgyptJournal of Information, Communication and Ethics in Society  8: 85-107. 

Stahl, Carsten, Bernd, McBride, Neil and Elbeltagi, Ibrahim2010.  Combining Postmodernism and Critical Theory in the Study of IS in the Middle East -Some Methodological Considerations.  (Online).  http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.108.8604&rep=rep1&type=pdf, September 30, 2010. 

United Nations Development Programme.  2010.  Human Development Report 2010,  20th Anniversary Edition, The Real Wealth of Nations: Pathways to Human Development.  2nd ed.  New York: Consolidated Graphics


[1] ประเทศจีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก อันดับหนึ่งและสองตามลำดับ มีดัชนีการพัฒนาคนอยู่ในกลุ่มพัฒนาปานกลาง


ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...