วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ความยากจนของเกษตรกรในสังคมไทย

 การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้แนวคิดความทันสมัย (Modernization) เริ่มต้นอย่างเข้มข้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การชี้นำของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ผ่านองค์กรทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก โดยเฉพาะธนาคารโลก (World Bank) ความอยู่ดี กินดี ของประชาชน การหลุดพ้นจากความยกจน ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยม เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการประเมินผลการพัฒนา และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปี

การแบ่งประเทศต่างๆ ในโลกตามระดับการพัฒนา รายได้ประชาชาชาติเบื้องต้นต่อหัวประชากร (Gross Domestic Product Per Capita: GDP per capita) รายได้ต่อหัวประชากรที่มีระดับต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) เป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินผลด้วยตัวชี้วัดเรื่องความยากจน (Poverty Index) การแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็นระดับขั้นของการพัฒนา ในรายงานการพัฒนาของโลกฉบับล่าสุด (World Development Report 2016) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก จัดแบ่งประเทศตามลำดับขั้นการพัฒนาไว้ 4 ระดับ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ (Lower Income Countries) กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (Lower – Middle Income Countries) ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper – Middle Income Countries) และประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) ประเทศที่ถูกจัดว่ามีรายได้ต่ำ และต่ำถึงปานกลาง มักเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมและมีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ และถ้าต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็จะถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ยากจน

ความยากจน

          คำว่าความยากจนปรากฏในสังคมไทยตั้งปลายสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งสมัยนั้นมองว่าคนจนคือผู้ที่สูญเสียที่ดินทำกินและมีหนี้สินจำนวนมาก ปัจจุบันสามารถจำแนกความยากจนได้ 3 ลักษณะ คือ ความยากจนที่แท้จริง ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ และความยากจนเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

          1) ความยากจนที่แท้จริง คือสภาวะที่ผู้คนไม่สามารถแสวงหาปัจจัยต่างๆ มาเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) ของตนเองได้ โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม

2) ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ เป็นการวัดความยากจนทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ตัวชี้วัดด้านรายได้ เช่น ช่องว่างความยากจน (Poverty Gap Ratio) ความรุนแรงของปัญหาความยากจน (Severity of Poverty) เส้นความยากจน (Poverty line) สัดส่วนคนจน จำนวนคนจน และ ค่าสัมประสิทธิ์ จีนี่ (Gini coefficient)

3) ความยากจนเชิงโครงสร้าง คือการอธิบายสาเหตุแห่งความยากจนจากโครงสร้างด้านต่างๆ ของสังคมที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำกัน ไม่เท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นต้น

มโนทัศน์เกี่ยวกับเกษตรกรไทยในสายตาของโครงสร้างส่วนบน (Supper Structure) ของสังคมไทยนั้นมองว่า เกษตรกรไทยเป็นประชากรกลุ่มที่ยากจนและมีการศึกษาต่ำ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไป หรือลดจำนวนเกษตรกรยากจนลง โดยในแผนพัฒนาฯ แทบทุกฉบับของไทยจะชี้ชัดให้เห็นว่ากลุ่มคนยากจนในประเทศไทยคือกลุ่มเกษตรกรในชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทล้าหลังห่างไกลความเจริญทางวัตถุ ซึ่งต่อไปนี้เป็นตัวอย่างข้อความที่ปรากฏในแผนพัฒนาฯ ฉบับต่างๆ

“...เกษตรกรไทยมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ยากจนและมีการศึกษาต่ำ เป็นการสุดวิสัยที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยโดยทั่วถึงได้…”

“...ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 จะได้พิจารณาเพิ่มประเภทของผลิตผลเกษตรที่จะดำเนินการพยุงราคาขึ้นอีก โดยยึดถือหลักการว่าจะต้องเป็นสินค้าเกษตรที่ผลิตในเขตแห้งแล้งประชาชนยากจน...

“...กลุ่มชาวนาชาวไร่ผู้ยากจนในเขตชนบทล้าหลังที่บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมยังไม่กระจายไปสู่พื้นที่ดังกล่าวมากนัก จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในฐานะทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ระหว่างคนในชนบทกับเมืองและระหว่างภาคต่างๆ มากขึ้น…”

“...กลุ่มอาชีพยากจนที่สุดยังคงเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งปรากฏว่ามีรายได้น้อยที่สุด คือเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยทั้งประเทศเท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไปและกลุ่มข้าราชการที่มีรายได้ต่ำก็ยังดีกว่ากลุ่มเกษตรกร…”

“...สร้างโอกาสให้กลุ่มคนยากจนจำนวน 8 ล้านคน ในการประกอบอาชีพการเกษตรให้มีรายได้พอเพียงและมีทางเลือกที่จะดำรงชีวิตอยู่ในชนบทได้อย่างมั่นคง…” 

“...ภาคเกษตรไม่สามารถเร่งพัฒนาผลิตภาพการผลิตได้ทันต่อสภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมาก ขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งออกหลักของภาคเกษตรยังคงอยู่ในรูปของสินค้าขั้นปฐม และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาหนี้สินและความยากจน...

          จากมโนทัศน์ดังกล่าวทำให้เห็นว่า คำว่า เกษตรกรยากจนที่เกษตรกรในชุมชนชนบทไทยถูกประทับตรามาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี จึงถือเป็นวาทกรรมที่สำคัญที่สุด ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวมีผลต่อการพัฒนาวิถีเกษตรในสังคมไทย โดยเฉพาะในชุมชนชนบทไทยเป็นอย่างมาก 

สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรยากจน

          โดยทั่วไปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของ มีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ มีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิต การจำหน่วย และการบริโภคสินค้าและบริการ โดยระบบกลไกราคา (Price Mechanism) หรือระบบตลาด จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (ซึ่งประกอบด้วยปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน คือ ผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร ผลิตเพื่อใคร และใครเป็นเจ้าของหรือควบคุมปัจจัยการผลิต) ดังนั้นในระบบเศรษฐกิจแบบนี้เอกชนจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยที่รัฐจะเข้ามายุ่งเกี่ยวน้อยมาก ส่วนใหญ่รัฐจะทำหน้าที่ในการดูแลด้านความปลอดภัย รวมถึงอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ด้วยดี (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545: 84)

ลักษณะของระบบทุนนิยมดังกล่าวสอดคล้องกับการอธิบายของ ชูศักดิ์ จรูญสวัสดิ์ (2548: 24-25) ที่อธิบายว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้อิสระแก่เอกชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตนเองสนใจ การให้เอกชนมีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยต้นเอง มีความเชื่อว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เสรีจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพในการผลิตและการจ้างงาน ลักษณะโดยทั่วไปของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือ เอกชนมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จึงสามารถใช้ทรัพย์สินไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด ขณะเดียวกันเอกชนก็มีสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจหรือขายปัจจัยการผลิตได้ตามต้องการ มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านกลไกราคา โดยมีกำไรเป็นสิ่งจูงใจ โดยขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของสินค้านั้นเป็นสำคัญ และมีการแข่งขันกันอย่างเสรี

          ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2545: 115-116) มองว่าปัจจุบันทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยม แบบที่ถ่ายโอนทรัพย์ออกจากชุมชนหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม่ใช่การพัฒนาทุนนิยมแบบที่เพิ่มประสิทธิผลในกิจการอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรป การพัฒนาของทุนนิยมในประเทศไทยจึงเป็นไปในลักษณะที่ผลประโยชน์หรือผลได้ของการพัฒนาตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว เมืองกับชนบท ชนชั้นนายทุนและข้าราชการกับชนชั้นชาวนา มีความแตกต่างกันมากด้านความเจริญ จนมีคำกล่าวที่ว่าที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทว่า รวยกระจุก จนกระจายขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทก็ถูกทำลายไปมาก

          การสรุปของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ดังที่กล่าวไปแล้วนั้นเป็นการสรุปที่ชัดเจนมาก สอดคล้องกับสภาพการพัฒนาการเกษตรของไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง คือการที่รัฐมีนโยบายใช้ฐานของการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยไปเพื่อการค้า เพื่อต้องการรายได้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ทันสมัยด้วยวิธีการแบบอุตสาหกรรมดังจะเห็นได้จากความสำคัญของภาคเกษตรค่อยๆ ลดลงไปจากร้อยละ 44 ในปีพ.ศ.2503 เหลือร้อยละ 13 ในปีพ.ศ.2533 และเหลือเพียงร้อยละ 9 ในปีพ.ศ.2546

 

แนวคิดการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมของไทยที่เน้นการลงทุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการสร้างขึ้นใหม่ มากกว่าการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมที่มีมาก่อนช้านานแล้ว ทำให้การพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่อยู่ในแผนการพัฒนาก็มีลักษณะที่สัมพันธ์กับระบบอุตสาหกรรม เช่น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มประเภทผลผลิตเพื่อการส่งออก การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมที่สืบเนื่องมาจากวัตถุดิบการเกษตร โดยสรุปแล้วจะเห็นว่ามีองค์ประกอบเชิงอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมทั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงการต้องใช้ทุนสำหรับปัจจัยการผลิตแบบใหม่ และใช้วิธีการบริหารไร่นาและจัดการตลาดตามแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547: 53)

          เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามาในแนวทางของการผลิตเพื่อการค้า เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์และการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับวิธีการและตลาดของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีอิทธิพลกว้างขวางครอบงำแทบทั้งโลกนี้ อาจมีผลกระทบที่ไม่เป็นการพัฒนาของเกษตรกรรมที่แท้จริงเสมอไปเนื่องจากมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการแบบใหม่ทางด้านเกษตรกรรม เช่น การใช้เครื่องจักรกลที่ทันสมัยมากขึ้น การทำเกษตรกรรมในไร่นาขนาดใหญ่ ตลอดจนการเกษตรแบบครอบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น และเพื่อมีหลักประกันทางด้านการตลาด แต่ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นไปเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักยิ่งกว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของภาคเกษตรกรรมเอง ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาดังกล่าวก็คือ ผู้ผลิตและขายเครื่องจักร ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ตลอดจนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางเกษตรกรรม แม้เกษตรกรอาจมีรายได้มากขึ้น แต่รายจ่ายสำหรับปัจจัยการผลิตสมัยใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยจนอาจเกินรายรับไปด้วยซ้ำ และในหลายกรณีก็ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้ต้องกลายเป็นกรรมกรในแปลงไร่นาขนาดใหญ่ หรือไม่ก็เป็นลูกไร่ที่ต้องพึ่งพิงผู้ประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547: 7)

ความสำเร็จของการพัฒนาระบบการเกษตรโดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเพิ่มจำนวนผลผลิต โดยใช้การค้นคว้า วิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศเม็กซิโก เมื่อปี พ.ศ.2486 โดยมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ การก่อตั้งสถาบันข้าวนานาชาติหรืออีรี่ขึ้นในปี พ.ศ.2503 โดยมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์และมูลนิธิฟอร์ดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรครั้งใหญ่ของโลกจนถูกเรียกขานว่าการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) (อภิพรรณ พุกภักดี, 2552: 25-46) ซึ่งต่อมาปรากฏการณ์ดังกล่าวได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่มีการริเริ่มวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นช่วงเดียวกันที่มีการนำการปฏิวัติเขียวเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนั้นมองว่า การที่จะขจัดความยากจนออกให้หมดไปได้นั้น ควรนำเอาแนวคิดการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแนวคิดการพัฒนาทางด้านการเกษตรมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยรัฐไทยขณะนั้นมองว่าประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นประสบผลสำเร็จในการพัฒนาทางการเกษตรด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ รัฐไทยจึงได้ใช้แนวทางนั้นมาเป็นแนวทางหลักในพัฒนาการเกษตรของไทยตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดวาทกรรม เกษตรแผนใหม่ในสังคมไทยโดยเฉพาะในแวดวงการพัฒนาทางการเกษตรตลอดจนเกษตรกรทั่วประเทศ วาทกรรมเกษตรแผนใหม่มีบทบาทสำคัญมากในการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยจำนวนมากจากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ จึงนับได้ว่าวาทกรรมเกษตรแผนใหม่เป็นวาทกรรมหลักที่สำคัญที่สุดวาทกรรมหนึ่งในบริบทการพัฒนาวิถีการเกษตรในสังคมไทย

          จากผลการศึกษาผลการพัฒนาวิถีเกษตรจากแผนพัฒนาฯ ฉบับต่างๆ แล้ว ยังมีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาการเกษตรของไทยที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ประภาส ปิ่นตบแต่ง, สุภาใยเมือง และบัญชร แก้วส่อง (2546) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในกลุ่มเกษตรกร ผลการวิจัยส่วนหนึ่งสรุปว่า

1) ด้านขนาดและปริมาณคนจนในกลุ่มอาชีพและชุมชนเกษตรกรรมพบว่า เกษตรกรจำนวน 5.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54.6 เป็นคนจน และมีคนงานเกษตรอีกร้อยละ 16.9 เป็นคนจน ถ้าใช้วิธีการประมาณการตามฐานคิดของทฤษฎีความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนที่ค่า 892 บาท ในปี 2543 แต่หากใช้การประมาณการขนาดประชากรยากจนตามแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยวิเคราะห์จากปัญหาการครอบครองที่ดินจะพบว่า มีครัวเรือนเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอประมาณ 1.5 ล้านครอบครัว หรือ 6.75 ล้านคน และเกษตรกรที่ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินประมาณ 1.2 ล้านครอบครัว หรือ 5.5 ล้านคน หรือหากวิเคราะห์จากปัญหาหนี้สินและทุนในการผลิตพบว่า เกษตรกรประมาณ 5 ล้านครอบครัว จาเกษตรกรทั้งหมด 5.6 ล้านครอบครัวเป็นหนี้

2) ด้านนโยบายรัฐที่เกี่ยวกับคนจนในชุมชนภาคเกษตรกรรมพบว่า นโยบายด้านการหนุนเสริมเกษตรกรเพื่อสร้างประสิทธิภาพการผลิตในรูปแบบต่างๆ ยังเป็นเพียงแค่การช่วยเหลือที่ยังอยู่ในระบบเกษตรกรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นการช่วยเหลือเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังดำรงอยู่ และยังเป็นการลดทอนการมองปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย ส่วนนโยบายด้านสังคมสงเคราะห์ สวัสดิการสังคม แก่ผู้ด้อยโอกาส คนจนในอาชีพและชุมชนเกษตรกรที่เกิดขึ้นบนฐานคิดเรื่องวัฒนธรรมความยากจน พบว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ การเมืองในเรื่องนโยบายการจัดสรรงบประมาณระหว่างการสนับสนุนภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมยังมีความเหลื่อมล้ำ ในมิติด้านการให้อำนาจแก่กลุ่มอาชีพและกลุ่มเกษตรกรพบว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมืองเป็นประเด็นที่สำคัญต่อเกษตรกร ปัญหาการกระจุกตัวของทรัพยากรที่ดินเป็นนโยบายที่รัฐไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก นโยบายการแก้ปัญหากลุ่มอาชีพและชุมชนเกษตรกรจึงไม่ได้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง

3) ด้านสภาพชีวิตและวิถีการผลิตของกลุ่มเกษตรกรพบว่า คนจนในกลุ่มเกษตรกรมี 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะแรกเป็นเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินหรือฐานปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง แต่เป็นกลุ่มที่มีฐานการผลิตแบบดั้งเดิมและอาศัยการดำรงชีพจากธรรมชาติเป็นด้านหลัก หรือกลุ่มที่มีฐานการผลิตสองฐาน แต่ฐานหนึ่งถูกทำลาย กลุ่มที่ผลิตเชิงเดี่ยวที่ต้องลงทุนทางการผลิตสูง กลุ่มที่ผลิตแบบพันธะสัญญาที่ต้องขึ้นกับบริษัท และกลุ่มที่มีการปรับตัวมาทำการเกษตรระบบผสมผสาน กลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถดำรงอาชีพด้วยฐานการผลิตเดียว เกษตรกรจะมีปัญหาหนี้สินทางออกของกลุ่มนี้จึงมักจะเป็นการรับจ้าง ลักษณะที่สองได้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินน้อยต้องเช่าเพิ่มและเสียค่าเช่า ส่วนลักษณะที่สามเป็นกลุ่มเกษตรกรรับจ้าง

ส่วนสภาพความยากจนของเกษตรกรมีหลายมิติ มิติแรกเป็นความขาดแคลนในทรัพย์สินที่สะท้อนให้เห็นจากการขาดที่ดินและปัจจัยการผลิต ต้องพึ่งพิงภายนอก และตกอยู่ในภาวะหนี้สินรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว มิติที่สองเป็นความขาดแคลนในโอกาสของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความต้องการของตลาด ทำให้เกิดความผิดพลาดในการผลิต มิติที่สามเป็นความจนในอำนาจ ขาดอำนาจต่อรอง ตลอดจนขาดอำนาจในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และมิติที่สี่คือความไร้ศักดิ์ศรีของคนจนภาคเกษตร เพราะอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ถูกคนดูถูก

สาเหตุสำคัญแห่งปัญหาความยากจนมาจากการรวมศูนย์การพัฒนาของรัฐที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีสาวนร่วมในการกำหนดนโยบาย การไร้สิทธิและอำนาจในการดูแลและการใช้ประโยชน์ในฐานทรัพยากรของชุมชน การพึ่งพิงภายนอกของเกษตรกรกับวิถีการผลิตในระบบเศรษฐกิจการตลาด วิธีคิดเชิงเดี่ยวที่เน้นความรู้แบบเดียว ทำให้ฐานความรู้และภูมิปัญญาของเกษตรกรและชุมชนถูกเบียดขับ ทำให้ฐานการพึ่งตนเองลดลง ประกอบกับเกษตรกรไม่มีสวัสดิการ ไร้หลักประกันและความมั่นคงในชีวิต จึงมีผลต่อความยากจนของเกษตรกรในชุมชนชนบท

งามพิศ สัตย์สงวน (2545) ทำการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมข้าว: การคงอยู่และการเปลี่ยนแปลง ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งใช้นามสมติว่าหมู่บ้านบ้านนา อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพบว่า

1) การชลประทานทำให้วัฒนธรรมข้าว วิถีชีวิตของชาวนา และแบบแผนการทำนาในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้วัฒนธรรมข้าวยังคงมีอยู่ในชุมชน เพราะการมีระบบชลประทานทำให้ชาวนาทำการผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง หากไม่มีระบบชลประทานชาวนาจะเลิกทำนาเพราะการทำนาเพียงครั้งเดียวได้ผลผลิตไม่พอเลี้ยงชีพ

2) การเข้ามามีบทบาทในการทำการค้าข้าวของพ่อค้าชาวจีนส่งผลให้เกิดการล่มสลายของหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยพ่อค้าชาวจีนผลักดันให้ชาวนาผลิตข้าวเพื่อการค้า ชาวนาจึงผลิตข้าวเพื่อขายเพียงอย่างเดียว เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายข้าวไปซื้อสิ่งของจำเป็นอย่างอื่น ละเลยการผลิตสิ่งของที่จำเป็นใช้เองเช่นในอดีต เศรษฐกิจของหมู่บ้านที่ทำการศึกษาขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจภายนอกที่ชาวนาในชุมชนควบคุมไม่ได้

3) การคมนาคมทำให้วัฒนธรรมข้าวในชุมชนเปลี่ยนแปลง โดยตั้งแต่ปีพ.ศ.2501 เป็นต้นมาการคมนาคมด้วยถนนสายต่างๆ ของหมู่บ้านบ้านนามีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้เส้นทางคมนาคมสายหลักในอดีตทั้งทางน้ำและทางเกวียนถูกเลิกใช้ การคมนาคมที่ดีขึ้นทำให้ชาวนาปลูกข้าวเพื่อขายมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนแปลงไปมาก

4) การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำให้วัฒนธรรมข้าวในชุมชนเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการวางแผนที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการผลิตข้าวเพื่อการยังชีพ มาเป็นการผลิตเพื่อการค้าขายเป็นหลัก โดยวางแผนให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเข้าไปศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง การส่งเสริมการใช้สารเคมีต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ เป็นต้น

5) การรับนวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมทำให้วัฒนธรรมข้าวในชุมชนเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ทำให้ชาวเปลี่ยนแปลงวิถีการทำนาไปมากโดยไม่สามารถปฎิเสธการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำนาได้ และยังส่งผลให้ชาวนาผลิตข้าวเพื่อการค้าเป็นหลักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้วิถีการผลิตของชาวนาผูกติดอยู่กับการค้าข้าวระดับโลกมากขึ้น

6) แหล่งเงินกู้ทำให้วัฒนธรรมข้าวคงมีอยู่ในชุมชน ชาวนาในชุมชนบ้านนาส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ขาดแคลนปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครื่องมือการผลิตต่างๆ แต่ชาวนาเหล่านั้นยังประกอบอาชีพทำนาได้เพราะอาศัยแหล่งเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ หากไม่มีแหล่งเงินกู้ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่อาจทำนาต่อไปได้

7) เทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตรทำให้วัฒนธรรมข้าวยังคงมีอยู่ในชุมชน โดยปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำนาเกือบทุกขั้นตอน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าถ้าหากชาวนาในยุคนี้ไม่ใช้เทคโนโลยีหรือวิทยาการสมัยใหม่ทางการเกษตร ก็ไม่อาจจะปลูกข้าวได้อีกต่อไป

8) การผลิตข้าวเพื่อการค้าทำให้วัฒนธรรมข้าวคงมีอยู่ในชุมชน เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ผลิตเพื่อขาย การผลิตเพื่อขายทำให้ชาวนาสามารถมีเงินไปจ่ายเงินกู้และสามารถกู้เงินมาทำการผลิตได้อีก หากชาวนาไม่ทำการผลิตเพื่อการค้า ชาวนาก็จะไม่มีเงินไปใช้หนี้ และไม่สามารถกู้เงินมาเพื่อทำการเพราะปลูกได้อีก

9) ครอบครัวและเครือญาติทำให้วัฒนธรรมข้าวยังคงมีอยู่ในชุมชน โดยการทำนาในปัจจุบันชาวนาจะอาศัยเงินที่ได้รับจากลูกหลานส่วนหนึ่งมาเป็นทุนในการทำนา หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากลูกหลาน การลงทุนในการทำนาก็จะมีความลำบากมากขึ้น

อภิพรรณ พุกภักดี (2552) ได้สรุปความยากจนในประเทศไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมว่า โลกาภิวัตน์ซึ่งมาในรูปของการยึดเอาวัตถุนิยมเป็นสาเหตุสำคัญของความยากจน การที่รัฐมุ่งที่จะเร่งรัดการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อทำรายได้เข้าสู่ประเทศและได้ใช้จ่ายรายได้จากภาคเกษตรเหล่านั้นนำไปพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวหากเป็นไปด้วยความไม่ระมัดระวังก็อาจส่งผลทำให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ซึ่งในที่สุดก็ได้แก่ความยากจนนั่นเอง การพัฒนาที่รัฐตีค่าการยกระดับทางเศรษฐกิจว่าเป็นการพัฒนา โดยเอาแบบอย่างมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การเร่งรัดการส่งออกภาคเกษตรให้สูงขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบที่จะใช้เป็นปัจจัยทางการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศมากขึ้น ทำให้ทัศนคติของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ของตนเองโดยเฉพาะที่เป็นรูปตัวเงิน การแก่งแย่งกันในเชิงรายได้ในสังคมจึงมีมากขึ้น รวมทั้งการคอรัปชั่นในระดับต่างๆ ส่งผลให้จำนวนคนยากจนมีมากขึ้น อีกทั้งการเร่งรัดพัฒนาประเทศโดยใช้ฐานการผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ความยากจนในชนบท ตลอดจนผลกระทบที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ขณะที่ในด้านแรงงานก็มีการอพยพโยกย้ายจากแรงงานภาคเกษตรเข้าสู่เมืองเพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ที่มากขึ้นกว่าจากการเกษตร ผลจากการพัฒนาของรัฐในองค์รวมก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) การเร่งรัดการผลิตโดยใช้สารเคมีต่างๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่เกษตรกรยากจนลง

ขณะเดียวกัน อภิพรรณ พุกภักดี (อ้างแล้ว) มองว่าการปฏิวัติเขียวก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับผลงานของวิทยาศาสตร์อื่นๆ ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในด้านบวกการปฏิวัติเขียวถูกยกย่องว่าเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาความอดอยากยากแค้นของมนุษยชาติ ขณะเดียวการปฏิวัติเขียวกันก็ถูกโจมตีว่าเป็นสาเหตุของการบ่อนทำลายสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากพืชที่ให้ผลผลิตสูงจำเป็นจะต้องได้รับสารเคมี น้ำชลประทาน และเครื่องจักรกลการเกษตร ผลของการใช้พันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงทำให้เกษตรกรยิ่งเพิ่มความถี่ของการเพราะปลูกต่อปีให้มากขึ้น จนเกิดเป็นการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดการสะสมโรคและแมลงในแปลงปลูก ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีมากขึ้น เกิดผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้น้ำมากขึ้น การลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกิดช่องทางการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรโดยนายทุนและพ่อค้าคนกลาง ตลอดจนเป็นการทำลายระบบเกษตรแบบพึ่งพาซึ่งมีพืชและสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วมกัน

สรุป

          แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่ผ่านมา ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยม โดยการครอบงำของประเทศมาหาอำนาจตะวันตก ทำให้ประเทศไทยต้องพยายามพัฒนาประเทศให้ผ่านการประเมินตามตัวชี้วัดขององค์กรทางเศรษฐกิจของโลกที่เป็นผู้ประเมินผล ซึ่งแนวทางพัฒนาดังกล่าว ได้ผลักใสให้ผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรถูกมองว่ามีวิถีการผลิตที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย เป็นเหตุแห่งความล้าหลังของการพัฒนาระดับประเทศ ต้องแก้ไขตามแนวทางของตะวันตก โดยการทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านวิถีการผลิตที่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้เพิ่มขึ้น โดยมีการเกษตรแผนใหม่เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนา

          เมื่อการผลิตเพื่อการยังชีพ (Extensive Farming) ถูกทำกลายกลายเป็นการเกษตรแผนใหม่เพื่อการค้า (Extensive Farming) ความรู้ ความจริง ภูมิปัญญาที่เคยสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปุ๋ยเคมี สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก ขณะที่องค์ประกอบทางการผลิตและการตลาดยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกัน เช่น ระบบชลประทานที่ไม่มั่นคงและเท่าเทียม ระบบการตลาดที่ถูกผูกขาดในการสร้างมูลค่าส่วนเกินด้วยพ่อค้า ทำให้เกษตรกรไทยเป็นเพียงพลังการผลิตที่สร้างมูลค่าทางการตลาดให้แก่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับตนเองและครอบครัวได้ อย่างยั่งยืน แม้ปัจจุบันนี้ จำนวนคนยากจนที่วัดตามเส้นความยากจนจะลดลงเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมา แต่ความจริงที่ปรากฏ เกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ยังคงต้องการการพัฒนา ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจการเกษตรของครัวเรือน และปัญหาคุณภาพชีวิตที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก

ไม่มีความคิดเห็น:

เงินฝากค้างนานในสหกรณ์

1. ประเด็นปัญหา 1.1 ในกรณีที่สมาชิกผู้ฝากเงินในสหกรณ์ ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุเสียชีวิต แล้วทายาท หรือผู้รับโอนประโยชน์ มิได้ไปติดต่อกับสหก...